Tag Archives: ประวัติศาสตร์ไทย

“เมรุปูนวัดสระเกศ” เมรุเกียรติยศที่เหลือแต่ชื่อ

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “แยกเมรุปูน” ซึ่งแยกนี้เป็นแยกที่ตัดกับถนนบำรุงเมืองที่มาจากเสาชิงช้า ผ่านแยกสำราญราษฎร์ หรือที่เรียกกันว่า “ประตูผี” แล้วจึงผ่านแยก “เมรุปูน” ทอดยาวสู่แยกแม้นศรี แต่เดิมนั้นยังไม่มีถนนบำรุงเมือง ดังนั้นถนนบำรุงเมืองและบริเวณพื้นที่ทั้ง 2 ฟากฝั่งนี้ จึงเป็นพื้นที่ผืนเดียวกันกับวัดสระเกศฯ สำหรับจุดที่เป็นที่ตั้งของ “เมรุปูนวัดสระเกศ” ก็อยู่ภายในบริเวณวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครในปัจจุบันนั่นเอง

1487442_776378565749757_4923563214272689535_n

ภาพประกอบ : เมรุปูน วัดสระเกศ ด้านบนเมรุจะเป็นนกแร้งเกาะอยู่เต็ม เนื่องจากในลานวัดสระเกศ จะใช้เป็นที่ทิ้งศพของชาวบ้าน ที่ไม่ได้เผา หรือ บางครั้งใช้ทิ้งศพที่เป็นโรคร้ายแรง ทำให้นกแร้งเหล่านี้มารอศพที่ถูกทิ้งเพื่อกินเป็นอาหาร

“เมรุปูนวัดสระเกศ” เป็นเมรุที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) แต่ครั้งยังเป็นพระยาพิพัฒน์รัตนราชโกษา เป็นนายช่างสร้างเมรุด้วยการก่ออิฐถือปูน ซึ่ง “เมรุปูนวัดสระเกศ” นี้ ถือได้ว่าเป็นเมรุเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เช่นเดียวกับเมรุราชอิศริยาภรณ์ ที่ตั้งอยู่ในวัดเทพศิรินทราวาสปัจจุบัน

Continue reading

ครั้งแรกกับท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่ปารีสประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2513(1970) กับครั้งสุดท้ายในบางกอก สยามประเทศ (ไทย) พ.ศ.2544(2001) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ผมเกิดที่บ้านโป่งเมื่อ พ.ศ. 2484 (1941) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อแม่ของผมเป็นคนชั้นกลาง พ่อเป็นพ่อค้าและเทศมนตรี แม่เป็นนางพยาบาลอิสระ เมื่อผมเกิดนั้นท่านปรีดี พนมยงค์เป็น รมต. คลัง (ก่อนที่ท่านจะถูกโยกขึ้นไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของในหลวงอานันท์  รัชกาลที่ 8  และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย  ต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามฯ) ท่านมีอายุ 41 ปี ส่วนศรีภริยา คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข มีอายุได้ 29 ปี

ต่อมาเมื่อเริ่ม “วัฏจักรของความชั่วร้าย” เกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 (1947) โดยมีพลโทผิน ชุณหะวัณเป็นหัวหน้า  นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม  กลับมาเถลิงอำนาจใหม่ ท่านปรีดีก็ต้อง “ลี้ภัยการเมือง” ไป ผมมีอายุได้ 6 ขวบ จำความได้กระท่อนกระแท่น  ว่าพ่อของผมได้รับรูปถ่ายปึกใหญ่ทาง ป.ณ.  เป็นรูปของยุวกษัตริย์สององค์ (ในหลวงรัชกาลที่ 8 กับรัชกาลที่ 9)   กับพระชนนีและพระพี่นาง  สมัยอยู่เมืองนอกที่สวิตเซอร์แลนด์  ผมได้ยินเสียงกระซิบกระซาบเรื่องกรณีสวรรคตอย่างงุนๆงงๆ   ผมอยู่บ้านโป่งจนอายุ 14 ปี  ถึง พ.ศ. 2497 (1954)  ก็เข้ากรุงเพื่อ “ชุบตัว”

เมื่อเติบใหญ่  ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2503-06 (1960-63)  ยุคนั้นเป็นสมัยของ “สายลม-แสงแดด และยูงทอง” กับ “ความทรงจำทางประวัติศาสตร์อันเลอะเลือน”  พวกเราบรรดานักศึกษา (แม้จะเป็นแนวหน้า)  ก็ไม่รับรู้รับทราบว่าท่านปรีดี  คือผู้ประศาสน์การ  สถาปนาธรรมศาสตร์  พวกเราเพ้อเจ้อว่าถ้าไม่ใช่กรมหลวงราชบุรีฯ  ก็คงเป็นเสด็จในกรมนราธิปฯ หรือบรรดา “เจ้านาย” องค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยของเรา   ดังนั้น ธรรมศาสตร์ในสมัยของผม  ถึงกับมีนายทหารใหญ่  อย่างจอมพลถนอม กิตติขจร  เป็นอธิการบดี !!!??? (แต่ผู้ที่มีอำนาจจริงในการบริหาร คือ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ ในตำแหน่งเลขาธิการ ที่ถูกส่งจาก กต. ให้มาคุม มธ.)   นามของปรีดี พนมยงค์ต่อพวกเรานักศึกษาสมัยนั้น  เป็นนาม “ต้องห้าม-ลบ-ดำ-มืด” และถูกกระทำให้มัวหมอง  มีมณทิลพัวพันกับกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์รัชกาลที่ 8

ผมและเพื่อนคู่หู (ชัช กิจธรรม) ได้แต่กระซิบกระซาบกันเรื่องของท่านปรีดี  เรื่องของเสรีไทย และวิชารัฐศาสตร์/การทูต  ที่เราเรียนกันสมัยนั้น ก็ไม่มี “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย”  ที่จะทำให้เรารู้เรื่องและเกิดสติปัญญาเกี่ยวกับสังคมไทยของเราเอง   สมัยนั้นยังไม่มีงานเขียนปลุกจิตสำนึก  อย่างงานของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล หรือไสว สุทธิพิทักษ์  เพื่อนๆและพี่ๆของเรา  เป็นลูกผู้ดีมีสกุล  อย่างสกุลสำคัญๆ เช่น ภูริพัฒน์-สิงหเสนี-ตันหยงมาศ  แต่เขาและเธอเหล่านั้น  เมื่อต้องเอ่ยพระนามหรือนามบุคคลสำคัญร่วมสมัย  ก็ดูจะอึกๆ  อักๆ ประดักประเดิด  และพร่ามัว   อีกทั้ง “คลังมันสมอง”  อย่างห้องสมุดของคณะรัฐศาสตร์  หรือของมหาวิทยาลัยสมัยนั้น  ก็มีแต่หนังสือเก่าๆ  ไร้สาระ ห่างไกลวิชาการ  ฝุ่นจับเขรอะ  ไม่น่าเข้าไปสัมผัสเสียนี่กระไร

ผมได้ปริญญา ได้เกียรตินิยม  แต่ก็เป็นบัณฑิตที่กว่าจะเริ่มเห็น “แสงสว่างทางปัญญา”  ขึ้นมาบ้าง ก็ต้องใช้เวลาเรียนหนังสือในเมืองนอกอีกหลายปี  และที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนลนั่นแหละ   ที่ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย  เรื่องเกี่ยวกับท่านปรีดี  เรื่องของเสรีไทย  และความยอกย้อนของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (1970) เมื่ออายุปาเข้าไปถึง 29 ปี ผมจึงได้มีวาสนาพบท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นครั้งแรก  ท่านปรีดีมีอายุได้ 70 ปีเข้าไปแล้ว  ท่านผู้หญิงมีอายุ 58 ปี  … ครับ ผมก็คงเหมือนกับใครๆ หลายคน  ที่เมื่อได้พบมหาบุรุษและมหาสตรีคู่นี้  ก็เริ่ม “ตาสว่าง”  และ ณ ที่ห้องพักแคบๆของท่านในกรุงปารีส  แถบมองปานาส (ท่านยังไม่ได้ย้ายไปอยู่บ้านที่อังโตนี) นั้น ผมก็ได้รับประทานอาหารมื้อที่ต้องจดจำไปชั่วชีวิต  คือ “ข้าวคลุกกะปิ”  และต่อไปนี้ ก็คือ  บทสัมภาษณ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายกับท่านปรีดี (ที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในหัวข้อของ “ปรีดี พนมยงค์”  กับการเมืองของสยามประเทศไทย)

(ขอแทรกตรงนี้ว่า บริบทของการเข้าพบปะเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (1970) นั้น ยังอยู่ในสมัยของ “สงครามเย็น” และความขัดแย้งกันทางด้านอุดมการณ์และลัทธิ  ยังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างค่ายสหภาพโซเวียตและจีน กับค่ายของสหรัฐอเมริกา (และไทย) ที่เราถูกทำให้เชื่อว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง “เสรีประชาธิปไตย กับลัทธิคอมมิวนิสม์”  และบ้านเมืองของเราก็ “แสนจะเป็นไทย” โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็น นรม. ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ  (ซึ่งโดยเนื้อแท้  ก็คือ เผด็จการของทหาร-ร่วมด้วยช่วยกันกับข้าราชการพลเรือน และข้าราชการตุลาการ)

นี่เป็นช่วงระยะเวลาก่อนที่สหรัฐฯ  จะพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2518 (1975 ก่อนที่พนมเป็ญ-ไซง่อน-และเวียงจัน จะแตกไปตามลำดับ)  และก็ยังก่อนเวลาของเหตุการณ์ “วันมหาปิติ 14 ตุลาคม 2516 (1976)”  ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้แหละ ที่ท่านปรีดีเพิ่งจากย้ายที่พำนัก “ลี้ภัยการเมือง” ถึง 21  ปีในเมืองจีน ไปอยู่ฝรั่งเศส  เปิดโอกาสในนักเรียนนอกแบบผมได้เข้าพบปะ Continue reading