Tag Archives: บทความ

ครั้งแรกกับท่านปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่ปารีสประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2513(1970) กับครั้งสุดท้ายในบางกอก สยามประเทศ (ไทย) พ.ศ.2544(2001) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ผมเกิดที่บ้านโป่งเมื่อ พ.ศ. 2484 (1941) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อแม่ของผมเป็นคนชั้นกลาง พ่อเป็นพ่อค้าและเทศมนตรี แม่เป็นนางพยาบาลอิสระ เมื่อผมเกิดนั้นท่านปรีดี พนมยงค์เป็น รมต. คลัง (ก่อนที่ท่านจะถูกโยกขึ้นไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของในหลวงอานันท์  รัชกาลที่ 8  และเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย  ต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามฯ) ท่านมีอายุ 41 ปี ส่วนศรีภริยา คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข มีอายุได้ 29 ปี

ต่อมาเมื่อเริ่ม “วัฏจักรของความชั่วร้าย” เกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 (1947) โดยมีพลโทผิน ชุณหะวัณเป็นหัวหน้า  นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม  กลับมาเถลิงอำนาจใหม่ ท่านปรีดีก็ต้อง “ลี้ภัยการเมือง” ไป ผมมีอายุได้ 6 ขวบ จำความได้กระท่อนกระแท่น  ว่าพ่อของผมได้รับรูปถ่ายปึกใหญ่ทาง ป.ณ.  เป็นรูปของยุวกษัตริย์สององค์ (ในหลวงรัชกาลที่ 8 กับรัชกาลที่ 9)   กับพระชนนีและพระพี่นาง  สมัยอยู่เมืองนอกที่สวิตเซอร์แลนด์  ผมได้ยินเสียงกระซิบกระซาบเรื่องกรณีสวรรคตอย่างงุนๆงงๆ   ผมอยู่บ้านโป่งจนอายุ 14 ปี  ถึง พ.ศ. 2497 (1954)  ก็เข้ากรุงเพื่อ “ชุบตัว”

เมื่อเติบใหญ่  ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2503-06 (1960-63)  ยุคนั้นเป็นสมัยของ “สายลม-แสงแดด และยูงทอง” กับ “ความทรงจำทางประวัติศาสตร์อันเลอะเลือน”  พวกเราบรรดานักศึกษา (แม้จะเป็นแนวหน้า)  ก็ไม่รับรู้รับทราบว่าท่านปรีดี  คือผู้ประศาสน์การ  สถาปนาธรรมศาสตร์  พวกเราเพ้อเจ้อว่าถ้าไม่ใช่กรมหลวงราชบุรีฯ  ก็คงเป็นเสด็จในกรมนราธิปฯ หรือบรรดา “เจ้านาย” องค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยของเรา   ดังนั้น ธรรมศาสตร์ในสมัยของผม  ถึงกับมีนายทหารใหญ่  อย่างจอมพลถนอม กิตติขจร  เป็นอธิการบดี !!!??? (แต่ผู้ที่มีอำนาจจริงในการบริหาร คือ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ ในตำแหน่งเลขาธิการ ที่ถูกส่งจาก กต. ให้มาคุม มธ.)   นามของปรีดี พนมยงค์ต่อพวกเรานักศึกษาสมัยนั้น  เป็นนาม “ต้องห้าม-ลบ-ดำ-มืด” และถูกกระทำให้มัวหมอง  มีมณทิลพัวพันกับกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์รัชกาลที่ 8

ผมและเพื่อนคู่หู (ชัช กิจธรรม) ได้แต่กระซิบกระซาบกันเรื่องของท่านปรีดี  เรื่องของเสรีไทย และวิชารัฐศาสตร์/การทูต  ที่เราเรียนกันสมัยนั้น ก็ไม่มี “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย”  ที่จะทำให้เรารู้เรื่องและเกิดสติปัญญาเกี่ยวกับสังคมไทยของเราเอง   สมัยนั้นยังไม่มีงานเขียนปลุกจิตสำนึก  อย่างงานของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล หรือไสว สุทธิพิทักษ์  เพื่อนๆและพี่ๆของเรา  เป็นลูกผู้ดีมีสกุล  อย่างสกุลสำคัญๆ เช่น ภูริพัฒน์-สิงหเสนี-ตันหยงมาศ  แต่เขาและเธอเหล่านั้น  เมื่อต้องเอ่ยพระนามหรือนามบุคคลสำคัญร่วมสมัย  ก็ดูจะอึกๆ  อักๆ ประดักประเดิด  และพร่ามัว   อีกทั้ง “คลังมันสมอง”  อย่างห้องสมุดของคณะรัฐศาสตร์  หรือของมหาวิทยาลัยสมัยนั้น  ก็มีแต่หนังสือเก่าๆ  ไร้สาระ ห่างไกลวิชาการ  ฝุ่นจับเขรอะ  ไม่น่าเข้าไปสัมผัสเสียนี่กระไร

ผมได้ปริญญา ได้เกียรตินิยม  แต่ก็เป็นบัณฑิตที่กว่าจะเริ่มเห็น “แสงสว่างทางปัญญา”  ขึ้นมาบ้าง ก็ต้องใช้เวลาเรียนหนังสือในเมืองนอกอีกหลายปี  และที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนลนั่นแหละ   ที่ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย  เรื่องเกี่ยวกับท่านปรีดี  เรื่องของเสรีไทย  และความยอกย้อนของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (1970) เมื่ออายุปาเข้าไปถึง 29 ปี ผมจึงได้มีวาสนาพบท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นครั้งแรก  ท่านปรีดีมีอายุได้ 70 ปีเข้าไปแล้ว  ท่านผู้หญิงมีอายุ 58 ปี  … ครับ ผมก็คงเหมือนกับใครๆ หลายคน  ที่เมื่อได้พบมหาบุรุษและมหาสตรีคู่นี้  ก็เริ่ม “ตาสว่าง”  และ ณ ที่ห้องพักแคบๆของท่านในกรุงปารีส  แถบมองปานาส (ท่านยังไม่ได้ย้ายไปอยู่บ้านที่อังโตนี) นั้น ผมก็ได้รับประทานอาหารมื้อที่ต้องจดจำไปชั่วชีวิต  คือ “ข้าวคลุกกะปิ”  และต่อไปนี้ ก็คือ  บทสัมภาษณ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายกับท่านปรีดี (ที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในหัวข้อของ “ปรีดี พนมยงค์”  กับการเมืองของสยามประเทศไทย)

(ขอแทรกตรงนี้ว่า บริบทของการเข้าพบปะเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (1970) นั้น ยังอยู่ในสมัยของ “สงครามเย็น” และความขัดแย้งกันทางด้านอุดมการณ์และลัทธิ  ยังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างค่ายสหภาพโซเวียตและจีน กับค่ายของสหรัฐอเมริกา (และไทย) ที่เราถูกทำให้เชื่อว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง “เสรีประชาธิปไตย กับลัทธิคอมมิวนิสม์”  และบ้านเมืองของเราก็ “แสนจะเป็นไทย” โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็น นรม. ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ  (ซึ่งโดยเนื้อแท้  ก็คือ เผด็จการของทหาร-ร่วมด้วยช่วยกันกับข้าราชการพลเรือน และข้าราชการตุลาการ)

นี่เป็นช่วงระยะเวลาก่อนที่สหรัฐฯ  จะพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2518 (1975 ก่อนที่พนมเป็ญ-ไซง่อน-และเวียงจัน จะแตกไปตามลำดับ)  และก็ยังก่อนเวลาของเหตุการณ์ “วันมหาปิติ 14 ตุลาคม 2516 (1976)”  ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้แหละ ที่ท่านปรีดีเพิ่งจากย้ายที่พำนัก “ลี้ภัยการเมือง” ถึง 21  ปีในเมืองจีน ไปอยู่ฝรั่งเศส  เปิดโอกาสในนักเรียนนอกแบบผมได้เข้าพบปะ Continue reading

ปีศาจภายในตัวเรา

ในเดือนกรกฎาคม ปี 1961 สแตนลีย์ มิลแกรม นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ทำการทดลองทางจิตวิทยาสำคัญครั้งหนึ่ง ต่อมาเรียกชื่อว่า The Milgram Experiment

การทดลองนี้ประกอบด้วยตัวอย่างทดลองสองกลุ่ม กลุ่มแรกทำหน้าที่เป็นครู กลุ่มหลังทำหน้าที่เป็นนักเรียน ทดลองทีละคู่โดยมี สแตนลีย์ มิลแกรม เป็นผู้คุมการทดลอง นักเรียนอยู่ที่ห้องหนึ่ง ครูกับผู้คุมอยู่อีกห้องหนึ่ง

การทดลองเริ่มด้วยผูกข้อมือของนักเรียนด้วยเส้นลวดเชื่อมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ครูทำหน้าที่ป้อนคำถามแก่นักเรียน หากนักเรียนตอบไม่ได้ ครูจะลงโทษนักเรียนคนนั้น โดยกดปุ่มปล่อยประแสไฟฟ้าไปชอร์ตนักเรียน ปุ่มเหล่านี้เรียงจากค่าต่ำสุดไปถึงสูงสุด เมื่อตอบผิดครั้งแรก นักเรียนจะถูกลงโทษด้วยกระแสโวลต์ต่ำ และจะเพิ่มขึ้น 15 โวลต์ทุกๆ ครั้งที่ตอบผิด บทลงโทษสูงสุดคือ 450 โวลต์ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์

ความตึงเครียดเกิดขึ้นกับครูทุกคน เพราะเมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าไปหลายครั้ง นักเรียนจะร้องด้วยความเจ็บปวด จนถึงจุดจุดหนึ่ง นักเรียนจะขอร้องครูไม่ให้ลงโทษพวกเขา บางคนทุบกำแพง บางคนร้องไห้ ครูบางคนลังเลและบอกผู้คุมว่าจะขอเลิกทดลอง บางคนบอกว่าจะคืนเงินค่าจ้าง ผู้คุมตอบว่า “เลิกไม่ได้ โปรดเดินหน้าทดลองต่อไป”

บางครั้งนักเรียนปฏิเสธที่จะตอบ เพราะกลัวตอบผิด ครูจะถือว่านักเรียนตอบคำถามนั้นผิด และกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า

แม้จะไม่รู้สึกสบายใจนัก ผู้ที่รับหน้าที่เป็นครูส่วนใหญ่ก็ดำเนินการต่อไปจนจบ ครูบางคนทนไม่ได้จริงๆ ก็เดินออกจากห้องไป แต่ครูบางคนก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

หลังการทดลองจบแล้ว ผู้คุมจะอธิบายให้ครูฟังว่า การทดลองนี้ไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าจริงแต่อย่างใด นักเรียนที่มาทดลองทำหน้าที่เล่นบทหลอกครูเท่านั้น เสียงร้องของนักเรียนเป็นเสียงที่อัดเทปล่วงหน้า เพื่อหลอกดูปฏิกิริยาของครู ครูก็คือกลุ่มตัวอย่างที่แท้จริงของงานนี้

แม้ The Milgram Experiment ได้รับการวิพากษ์ว่าผิดจรรยาบรรณของการทำวิจัย แต่ผลการค้นพบน่าสนใจอย่างยิ่ง มันบอกว่ามนุษย์เราสามารถปฏิบัติตามคำสั่งให้กระทำเรื่องเลวร้ายได้ทั้งที่รู้ว่ามันผิด

การค้นพบนี้อธิบายว่า มนุษย์เราเชื่อฟังอำนาจเบื้องบนโดยไม่มีเหตุผล แม้ว่าเบื้องบนจะออกคำสั่งให้ทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน นี่อาจอธิบายว่าทำไมทหารนาซีจึงสามารถฆ่าชาวยิวหกล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งการทรมานนักโทษทุกรูปแบบ ทั้งที่รู้อยู่ว่ามันเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและผิดศีลธรรม

นี่เป็นภาพที่เราเห็นเป็นประจำในสังคมบ้านเรา ข้าราชการรับคำสั่งรัฐมนตรีให้ปล้นชาติโดยไม่แย้ง ทั้งที่รู้โดยมโนธรรมและศีลธรรมว่ามันไม่ถูกต้อง อัยการปล่อยคนร้ายให้พ้นมือกฎหมาย ตำรวจรับใช้โจรที่เล่นการเมืองจนเป็นใหญ่ พัสดีโค้งคำนับนักโทษ ครูบาอาจารย์รับใช้นักการเมืองชั่ว ฯลฯ

ทหารนาซีที่ฆ่าชาวยิวก็เป็นคนธรรมดา รักครอบครัว เข้าโบสถ์ ตำรวจ พัสดี ครูอาจารย์ก็เป็นคนธรรมดา มีศาสนา เข้าวัดเข้าวา แต่เมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง พวกเขาก็สามารถเปลี่ยนเป็นปิศาจได้

ในชีวิตจริง คำสั่งมาในหลายรูปแบบและมีความรุนแรงต่างกัน ตั้งแต่การฆ่ากัน การยกพวกตีกัน ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ เช่น ประเพณี ‘ว้าก’ ในบางมหาวิทยาลัย

นักเรียนที่ยกพวกตีกันอาจมาจากครอบครัวที่ดี พ่อแม่อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี แต่ภายใต้บางสถานการณ์ เมื่อพวกเขาตกอยู่ในคำสั่งให้ฆ่า หรือทำร้ายนักเรียนโรงเรียนอื่น ก็ไม่ปฏิเสธ

หลายคนเสพยาเพราะเพื่อนทุกคนเสพยา “ไม่งั้นจะเสียเพื่อน”

ในประเพณีรับน้อง ในเมื่อทุกคนก็ ‘ว้าก’ ใส่รุ่นน้อง เราก็ต้องทำด้วย “ไม่งั้นจะเข้ากับใครไม่ได้” ฯลฯ

ความแตกแยกของสังคมบ้านเราในช่วงหลายปีนี้ สร้าง ‘ความชอบธรรม’ ให้เราทำร้ายเข่นฆ่าอีกฝ่ายได้ง่ายขึ้น ฆ่าพวกมันให้ตาย เอามันให้หนัก “เพราะพวกมันไม่ใช่พวกเรา” ในที่สุดก็ไม่ต่างจากพวกนาซีที่ฆ่าชาวยิวไปหกล้านคน

คนเรามีข้ออ้างเสมอเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือคำอธิบาย เมื่อทำเรื่องแย่ๆ : “ฉันทำตามหน้าที่”, “ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำ”, “เบื้องบนสั่งมา ไม่ทำไม่ได้”, “เราต้องเคารพคำสั่ง”, “มันเป็นประเพณีของโรงเรียนเรา” ฯลฯ

สัญชาตญาณการเอาตัวรอดฝังในยีนของเราทุกคน แต่จุดหนึ่งที่ทำให้เราต่างจากสัตว์อื่นๆ อยู่ที่เราพัฒนามโนธรรม ความรู้ถูกรู้ผิด และเราพัฒนาสังคมให้ทุกหน่วยมีเจตจำนงอิสระมากเท่าที่จะมีได้ เรามีเจตจำนงอิสระที่จะทำดีหรือทำชั่ว

ไม่ช้าหรือเร็ว เราแทบทุกคนก็ต้องผ่านการทดลองกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า จะเลือกกดปุ่มหรือไม่กดปุ่มอยู่ที่เรา

เราทุกคนมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเป็นปิศาจได้ก็จริง แต่หากเราเลิกเชื่อว่าเราสามารถเลือกที่ทำดีทำชั่วได้ เลือกที่จะมีความสุขได้ ชีวิตของเราจะเหลือคุณค่าอะไร?

มนุษย์อาจเป็นสัตว์ที่อ่อนแอโดยสันดาน แต่หากเราใช้เหตุผลนี้เป็นข้อแก้ตัวว่าเราอ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อต้านอำนาจเบื้องบนที่เลวร้าย ก็เป็นเพียงคำแก้ตัวน้ำขุ่นๆ เพราะประวัติศาสตร์มีตัวอย่างคนมากมายที่ปฏิเสธกระทำตามคำสั่งเลวร้าย

เราสามารถเลือกได้ 35% ของกลุ่มตัวอย่าง The Milgram Experiment เดินออกจากห้อง ปฏิเสธที่จะกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าไปทำร้ายคนอื่น

วินทร์ เลียววาริณ
16 มีนาคม 2556

ชา… วิถีแห่งชีวิต

อ.ชุติมา ผังชัยมงคล

สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง พบกันในรายการสุขภาพดีชีวีมีสุข ที่นำเสนอสาระน่ารู้สำหรับท่านผู้ฟัง วันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนคุ้นเคย บางประเทศถือเป็นวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้ ท่านผู้ฟังคงสงสัยแล้วสิค่ะว่าวันนี้เราจะคุยเรื่องใดดี เราจะคุยกันเรื่องของชา…วิถีแห่งชีวิตค่ะ

ชามาจากพืชตระกูลคาเมเลีย ไซเนนซิส (Camellia sinensis) มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบเขียวเข้มเป็นมัน ออกดอกสีขาวเป็นช่อส่งกลิ่นหอม ส่วนของต้นชาที่นำมาเป็นเครื่องดื่มจะใช้ใบชาที่อยู่ส่วนบนของต้น ชาที่มีคุณภาพดีที่สุด คือชาที่ผลิตจากใบชาอ่อน ชาเป็นผลผลิตที่มาจากพืชชนิดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นชาจีน ชาญี่ปุ่น ชาอินเดีย ชาศรีลังกา แต่กรรมวิธีการผลิตใบชา และการชงชาไปจนถึงการปรุงแต่งรสชาดของชาที่แตกต่างกันในหลายวัฒนธรรม ทำให้เกิดชาในรูปแบบต่างๆกว่า 3,000 ชนิด

ชาที่นิยมดื่มมี 3 ชนิด คือ ชาฝรั่ง ซึ่งเป็นชาที่ผ่านการนวดอย่างสมบูรณ์ ชาจีน หรือชาดำ เป็นชาที่ผ่านการนวดเพียงเล็กน้อย และสำหรับคนยุคใหม่อาจจะคุ้นเคยกับคำว่าชาเขียวหรือกรีนที กรีนในที่นี้หมายถึงสีเขียว ส่วนทีคงไม่พ้นกับความหมายว่าชา ชาเขียวหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคือชาญี่ปุ่น แต่จริงๆแล้วชาเขียว คือ ชาทุกชนิดที่ผลิตโดยการเอาใบชาสดมาคั่วให้แห้ง ไม่ผ่านกระบวนการหมัก ทำให้ใบชาแห้งและยังคงมีสีเขียว มีคุณภาพเช่นเดียวกับใบชาสด เมื่อนำมาชงน้ำร้อนแล้วจะให้น้ำชาสีเขียว รสฝาดกว่าชาจีน ชาเขียวมี 2 ประเภทคือ ชาเขียวแบบจีน และชาเขียวแบบญี่ปุ่น ต่างกันตรงที่แบบญี่ปุ่นจะไม่คั่วด้วยกะทะร้อนเหมือนของจีน

ชาจัดเป็น เครื่องดื่มที่เหมาะกับการชงไปนั่งคุยกันไป ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมของชาวอังกฤษในยุคแรก ๆ นิยมดื่มชาในช่วงบ่ายๆหรือเย็นๆ ในสวนดอกไม้บรรยากาศสบายๆ ใกล้ชิดธรรมชาติเพื่อเป็นการพบประสังสรรค ต่อมาในสมัยของควีนวิกตอเรีย ชาวอังกฤษนิยมดื่มชาในห้องที่มีบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง ประดับประดาด้วยดอกไม้นานาชนิด เคล้าด้วยเสียงเพลงเพื่อเพิ่มรสชาดในการสนทนา โดยเฉพาะการเจรจาทางธุรกิจ ทำให้ตกลงกันง่ายขึ้น เหมือนในสมัยปัจจุบันที่คนไทยนิยมไปไดรฟ์กอล์ฟเพื่อเจรจาธุรกิจโดยคาดหวัง ว่าการเจรจารธุรกิจจะง่ายขึ้น

คนไทยรู้จักชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน แต่ที่มี
ปรากฎหลักฐานชัดเจนในสมัยอยุธยาจากจดหมายเหตุ ที่ลาลูแบร์ราชฑูตผรั่งเศส พูดถึงการดื่มชาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าการดื่มชาถือเป็นมารยาท ผู้ดีอันจำเป็นต้องนำน้ำชามาเลี้ยงผู้มาเยือน คงจะตรงตามวัฒนธรรมไทยที่ว่าแขกไปใครมาต้องต้อนรับ และการดื่มชาในสมัยนั้นดื่มแบบชาจีนไม่ใส่น้ำตาล ในการต้มชานั้นน้ำที่เหมาะกับการต้มชาควรมีอุณหภูมิสูงประมาณ 80 องศาเซลเซียส และน้ำที่ใช้ต้มชาฝรั่งควรเป็นน้ำเดือด

สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนหรือชาวจีนเวลามีผู้มาหาสู่ถึงบ้านจะนิยมยกน้ำชาออกมาต้อนรับ ถ้าไม่รักกันจริงจะไม่ยกน้ำชามานั่งดื่ม เพราะจะได้คุยให้เสร็จ ๆ แล้วรีบกลับ แม้แต่พิธีแต่งงานของชาวจีนชาจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีความสำคัญ เพราะชาวจีนจะมีพิธียกน้ำชา เพื่อใช้แสดงถึงความเคารพนับถือผู้ใหญ่ที่มาร่วมงาน และใช้แสดงถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์ แม้แต่พิธีไหว้บรรพบุรุษ หรือสารทจีนน้ำชาก็ใช้ไหว้เช่นกัน ญี่ปุ่นเองก็มีพิธีการชงชาแบบชาโนยุ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาของนิกายเซน ปัจจุบันมีการฝึกหัดชงชาเพื่อรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมญี่ปุ่น เราจะเห็นได้จากภาพยนต์ญี่ปุ่นหลายเรื่องจะมีการชงชาให้เราได้ชม
สำหรับ คนไทยภาคเหนือ คนลาวและพม่า อาจจะรู้จักชาในคำว่า “เมี่ยง” เมี่ยงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากชาที่ผ่านการนึ่งและหมัก มีรสชาดออกเปรี้ยว ๆ เวลารับประทานจะโรยเกลือใส่เล็กน้อยเพื่อเสริมรสชาด เมี่ยงมีบทบาทในวิถีการดำเนินชีวิตจนเกิดคำพังเพยว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อย่างเราๆท่านๆ อาจจะไม่ทราบ หลายท่านคงยังติดหูกับคำว่าโรงน้ำชาหรือร้านน้ำชา จัดเป็นสถานที่ที่ผู้คน ทุกอาชีพทุกวัยได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยอาศัยการดื่มชา ดิฉันยังเคยได้ติดตามคุณปู่คุณย่าไปโรงน้ำชาเมื่อสมัยยังเด็กยังจำภาพนั้น ได้ติดตาอยู่เลยว่าบรรยากาศช่างสนุกสนาน ดูอบอุ่น มีผู้เฒ่าผู้แก่สรวลเสเฮฮากับคนวัยต่างๆด้วยความสนุกสนาน ร้านน้ำชาจัดเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่ทำให้ท่านมีความสุข ได้เข้ากลุ่ม ได้พบปะกับบุคคลในวัยเดียวกัน ได้เชื่อมสังคมของตนเองกับสังคมของคนวัยอื่นๆ

สำหรับในวันนี้ผู้ฟังคงได้ ทราบแล้วว่าชามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง ในคราวหน้าเราจะมาทราบคุณประโยชน์ของชากันนะคะ สวัสดีค่ะ

บรรณานุกรม
จิระศักดิ์ ทองหยวก.(2542). เอนหลังดื่มชา. กรุงเทพฯ:บ้านและสวน.
ธนิษฐา แดนศิลป์.(2545). เสน่หาแห่งชา.พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : อีกหนึ่งสำนักพิมพ์.
ปรัชนันท์.(2546). รินใจใส่ชา : คู่มือคนรักชา. กรุงเทพฯ : อีกหนึ่งสำนักพิมพ์.

http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=574