ความหมายของสมุนไพร
คำว่า “สมุนไพร” ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2510 หมายความว่ายาที่ได้มาจากพืช สัตว์ แร่ธาตุ จากธรรมชาติที่ไม่มี การเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างภายใน สามารถนำมาใช้รักษาโรคและบำรุงร่างกายได้
พืชวัตถุ ได้แก่ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นยา ซึ่งจะต้องรู้ว่าส่วนไหนของพืชนั้นที่สามารถใช้ทำยาได้ เช่น ราก เหง้า ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือก ไม้ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด หรืออาจใช้ทุกส่วนหรือหลายส่วนของพืชชนิดนั้นๆ เช่น ขี้เหล็กทั้ง 5 กะเพราทั้ง 5 การที่ใช้ทั้ง 5 หมายความว่า พืชชนิดนั้นมีคุณสมบัติทางยาอยู่ตามส่วนต่างๆ หลายส่วน และต้องมีรสตลอดทั้งต้นอย่างเดียวกัน
สัตว์วัตถุ ได้แก่ พวกสัตว์ หรืออวัยวะของสัตว์ทั้งหลายที่นำมาใช้เป็นยา เช่น ขน หนัง เขา เขี้ยว นอ งา หนวด ดี เล็บ กระดูก กีบ เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา
ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุ ตามกรรมวิธีนำมาใช้เป็นยา เช่น กำมะถัน น้ำประสานทอง ดีเกลือ สารส้ม แต่ละสิ่งมีสี กลิ่น รส ชื่อ เป็นอย่างไรในธาตุวัตถุ แบ่งเป็น 3 จำพวก คือ
- จำพวกสลายตัวง่ายหรือสลายตัวอยู่แล้ว
- จำพวกสลายตัวยาก
- จำพวกแตกตัว
หลักในการนำสมุนไพรมาใช้
โดยทั่วไปแล้ว การจะนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคนั้นจำเป็นจะต้องพิจารณา พิสูจน์สรรพคุณอย่างถ้วนถี่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมามีหลักในการวินิจฉัย 5 ประการคือ
- รูป คือ ของบังเกิดในพืช เช่น ใบ ดอก ผล เปลือกต้น กิ่ง ก้าน เนื้อไม้ ยาง ราก เป็นต้น ของบังเกิดแก่สัตว์ เช่น ขน หนัง เขา กระดูก กีบ งา เป็นต้น ของบังเกิดในธาตุตามธรรมชาติหรือประกอบจากธาตุ เช่น กำมะถัน เกลือ มวก สิ่งเหล่านี้เรียกว่า รูปของยา
- สี คือ รู้จักสีของพืช สัตว์ และธาตุว่ามีสีเป็นอย่างไร เช่น การบูร สารส้ม มีสีขาว รงสีทอง กำมะถันมีสีเหลือง ฝางมีสีแดง ยางสีเสียดมีสีดำ เป็นต้น
- กลิ่น คือ รู้จักกลิ่นของพืช สัตว์ ธาตุ แต่ละอย่างว่ามีกลิ่นเป็นอย่างไร กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น เช่น พิมเสน หญ้าฝรั่น อำพันทอง ชะมดเช็ด ชะมดเชียง กฤษณา ชะลูด อบเชย แก่นจันทน์ ดอกมะลิ เหล่านี้มีกลิ่นหอม ส่วนมหาหิงค์ ตูดหมู มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น
- รส คือรู้จักรสของพืช สัตว์ และธาตุ ว่าสิ่งเหล่านี้มีรสเป็นอย่างไร มีรสฝาด หวาน เมา เบื่อ รสขม รสเผ็ดร้อน รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม รสเปรี้ยว รสจืด เช่น เปลือกแค รสเมาเบื่อ , บอระเพ็ด มะระ รสขม , พริกไทย พริกต่างๆ รสเผ็ดร้อน , เมล็ดงา น้ำมันสัก รสมัน , ดอกมะลิ รสหอมเย็น , เกลือ เหงือกปลาหมอ รสเค็ม , มะนาว มะดัน รสเปรี้ยว , นม ผักบุ้ง รสจืด เป็นต้น
- ชื่อ คือ รู้จักชื่อของพืช สัตว์และธาตุว่าแต่ละอย่างเราเรียกชื่ออย่างไร เพราะชื่อเป็นสิ่งที่มนุษย์เราสมมุติขึ้นสำหรับเรียกขาน เช่น ของ ข่า ไพล อุ้งตีนหมี ทองแดง ทองเหลือง เป็นต้น
http://www.sri.cmu.ac.th/elanna/elanna47/public_html/med/med1_1.html
รูปแบบการใช้สมุนไพร
การใช้สมุนไพรรักษาโรคให้ได้ผลนั้น ตามตำราการแพทย์แผนโบราณล้านนา มักนำสมุนไพรประเภทต่างๆ เช่น พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุมาใช้ร่วมกัน โดยจะพิจารณาตามอาการที่เกิดขึ้น สมุนไพรที่ใช้ที่มีรสต่างกันจะถูกนำมาผสมกันตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ หรือธาตุวัตถุก็ตาม เช่น
ยาฝี 7 จำพวกอันมีในท้องในไส้ทั้งมวล หื้อเอางาช้าง นอแรด เขาเยือง เขาควาย ดูกงูเหลือม ข่าแดง ดีงูว่า หญ้าหย่อมตีนหมา รากไค้นุ่น เขาวัวกระทิง ฝนกินทา
และบางพวก จะใช้เฉพาะพืชสมุนไพร เช่น
ยาเรื้อนเรื้อรังอยู่หลังตีนหลังมือ เอาใบหนุน (ขนุน) 7 ใบ เผาเป็นด่าง พริก 13 ลูก ขมิ้น 7 กลีบ บดกับกันไว้ ใส่ทั้งวันทั้งคืน เป็นต้น
ตามตำราแพทย์แผนโบราณกำหนดการเก็บยาไว้ดังนี้
1. การต้ม
สมุนไพรที่ใช้ต้มมีทั้งแห้งและสด ได้มาจากราก แก่น เปลือก ลำต้น เหง้าหรือหัว เป็นต้น ส่วนสมุนไพรที่ใช้สดๆ มักจะใช้ส่วนของใบ และเหง้าเป็นสำคัญ สมุนไพรแห้งจะต้องนำไปตากแดด หรืออบให้แห้งก่อนนำมาใช้เพื่อป้องกันเชื้อรา และเพื่อให้เก็บไว้ได้นานๆ
การนำสมุนไพรมาใช้ต้มมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ ต้มอาบ ต้มดื่ม และทั้งอาบและดื่มร่วมกัน
การต้มอาบ มักจะใช้รักษาโรคที่เกี่ยวเนื่องจากภายในและโรคที่ปรากฏอาการออกมา เช่น ไข้ป้าง ไข้รากสาด ลมสาน มะเร็งขึ้นหัว บวมหน้า ฯลฯ หรือใช้รักษาอาการภายหลังเป็นไข้ และหญิงหลังคลอด กรณีของผู้ที่เพิ่งจะฟื้นไข้ สมุนไพรที่ใช้จะเป็นสมุนไพรสดๆ เช่น ใบหมากผู้หมากเมีย ใบสะเภาลม ใบมะขาม เป็นต้น และสำหรับหญิงหลังคลอด ใช้สมุนไพรจำพวก ใบมะขาม ใบเปล้า ใบขี้เหล็ก และเหง้าปูเลย (ไพล) วิธีการคือ มัดสมุนไพรทั้งหมดรวมกันแล้วต้มจนน้ำมีสีเข้ม จึงยกลง รอให้อุ่นแล้วนำไปอาบ โดยจะอาบประมาณ 3-7 วันๆ ละครั้ง
การต้มดื่ม บางครั้งก็เรียกว่า เคี่ยว ส่วนมากมักใช้สมุนไพรแห้งนำมามัดรวมกันแล้วต้ม โดยใส่ข้าวสารเจ้า 7 เม็ด น้ำ 3 ส่วน ต้มจน น้ำแห้งเหลือส่วนเดียว จึงยกลง ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น และดื่มได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน เมื่อหมดแล้วก็ต้มมัดเดิมอีก จนกว่า สีของน้ำสมุนไพรจะจางลงหรือใส จึงเปลี่ยนมัดใหม่ ให้ต้มกินจนกว่าจะหาย โรคที่ใช้ยาต้มส่วนใหญ่มักจะเป็นโรค หรืออาการที่เกิดขึ้น ภายในร่างกาย เช่น นิ่ว มะเร็งคุด มะเร็งเกี่ยวเข้าไส้ มดตะขึด ฯลฯ เป็นต้น
ทั้งต้มอาบและต้มกิน โรคที่ใช้วิธีการทั้งสองร่วมกัน มักจะเป็นโรคหรืออาการของโรค ที่เกิดจากภายใน และปรากฏอาการออกมาภายนอก ดังนั้นวิธีการรักษาจึงต้องใช้ทั้ง 2 วิธี คือ ทั้งรักษาอาการภายในและภายนอกด้วย เพื่อให้หายเร็วขึ้น เช่น ไข้ป้าง สันนิบาตร้อนหนาว ลมหมืน (ลมพิษ) เป็นต้น
2. การแช่
สมุนไพรที่ใช้ในการแช่มักจะเป็นส่วนของรากไม้ ใบ เปลือก ราก และหัว เช่น รากแฝก รากไค้นุ่น หัวกูดน้ำ ใบง้วนหมู ใบผักหนอก (บัวบก) เปลือกทัน (พุทรา) โดยการนำไปแช่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้เวลานาน อาจมากกว่า 2 ชั่วโมง นานที่สุดอาจถึงข้ามคืน การแช่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้แช่เพื่ออาบ กิน เป็นการรักษาโรคอย่างหนึ่ง เช่น ไข้ ขางรากสุด เป็นต้น
3. การฝน
การฝน คือการนำเอาส่วนของพืชสมุนไพร เช่น รากไม้ กิ่งไม้ เป็นต้น นำมาถูกับหินฝนยา ซึ่งมีลักษณะกลม ผิวสากๆ ซึ่งเรียกว่า “บ่าหินฝนยา” หินนี้มักได้จากบริเวณน้ำตก วิธีฝน ทำโดยนำส่วนของไม้ที่เป็นสมุนไพรไปแช่น้ำสักครู่ แล้วนำมาฝนกับหินฝนยา และน้ำเปล่า อาจจะเป็นน้ำอุ่นก็ได้ เมื่อจะรับประทานก็เอาน้ำเจ้า (น้ำข้าวเจ้า) น้ำอ้อย หรือน้ำผึ้งตัด หรือเป็นกระสาย การรับประทานยาฝน มักจะเป็นช่วงเช้าหรือเย็น ซึ่งถือกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายเป็นปกติ เหมาะสม โดยรับประทานไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการจะหายไป โรคที่ใช้ยาฝนกิน เช่น มะเร็งลมล่า ขางกระด้าง ขางเลือดขางลม ไข้ดิน เป็นต้น
สำหรับการฝนทานั้น มักใช้กับโรคที่ปรากฏทางผิวหนัง หรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับอาการไข้ที่ปรากฏออกมาทางผิวหนัง เช่น ไข้ออกดำแดง เป็นต้น
4. การบดหรือตำ
การบดหรือตำ เพื่อให้สมุนไพรมีลักษณะเป็นฝุ่นหรือผงละเอียด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที การนำมาใช้มีหลากหลายด้วยกัน เช่น ใช้ทา ซึ่งจะใช้กับแผลหรือตุ่มต่างๆ นำไปกินกับน้ำจิงหรือน้ำเปล่า สำหรับผู้ที่ชอบหวานหรือต้องการตัดรสขมของยาแก้ 5 ต้นออกไปก็ใส่ น้ำอ้อย น้ำข้าวเจ้าหรือน้ำผึ้งลงไป เพื่อให้รสชาติดีขึ้น และการปั้นเป็นลูกกลอน โดยนำมาผสมกับน้ำผึ้ง น้ำอ้อยหรือน้ำข้าวเจ้า แล้วปั้น ออกมาเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ นำไปตากแดด จนแห้งสนิท เก็บไว้รับประทานได้นาน
5. การหั่นและจู้
การหั่นหรือตัดสมุนไพรเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อใช้รักษาอาการขบ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาการบวม ปวดหัว เป็นต้น สมุนไพรที่ใช้ เช่น พิดเทาะ ยอดขี้เหล็ก ยอดหนาม ยอดผีเสื้อ นำมาตำพอประมาณ แล้วห่อผ้าทำเป็นลูกประคบ วางทาบลงบนร่างกาย บริเวณที่ต้องการ ตัวยาก็จะค่อยๆ ซึมผ่านผ้าลงบนผิวหนัง เป็นการกรองหรือป้องกันสมุนไพรที่จะมาสัมผัส กับบาดแผลโดยตรงได้ ชั้นหนึ่ง หมอพื้นบ้านบางรายจะใช้ยาจู้ (ทาบ) โดยการนำสมุนไพรมาหั่นแล้วนึ่งด้วยความร้อน ให้ไอความร้อนขึ้น ส่งกลิ่น และมีน้ำซึม ออกมาจากห่อผ้า จากนั้นจึงนำมาทาบบนร่างกายบริเวณที่มีอาการ โดยทำบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้ง
6. ผิงไฟ
เป็นการใช้ส่วนของพืช เช่น ใบ หรือกาบ ที่มีความอ่อนนุ่ม เช่น ใบพลับพลึง ใบกล้วย กาบกล้วย ฯลฯ นำไปผิงไฟให้ร้อน นุ่มแล้วนำมาถูนวดตามร่างกายทันที เช่น การรักษา อัมพฤกษ์ อัมพาต โดยใช้ใบพลับพลึงไปผิงไฟให้ร้อน นุ่ม แล้วนำมานวดเฟ้น เช็ดบริเวณ ร่างกายหรือส่วนที่มีอาการของโรค ทำไปจนใบพลับพลึงเย็น การใช้วิธีนี้มักจะใช้ร่วมกับการใช้ยาจู้ จะทำให้อาการดีขึ้น
7. การหมก
นำพืชที่ต้องการใช้ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นเหง้า หรือหัว ผลของพืช หุ้มหรือห่อด้วยใบตองกล้วยหลายๆ ชั้น ไปย่างบนถ่านไฟแดงๆ จนใบตองชั้นนอกไหม้เกือบถึงใบตองชั้นใน จึงยกออกมาใช้ หรือโดยการนำไปหมกในกองขี้เถ้าร้อนๆ จนกว่าพืชนั้นจะนิ่ม
8. การอม
สมุนไพรที่ใช้เพื่ออม มักจะเป็นส่วนของดอก ยอดอ่อน มักใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับช่องปาก โรคเหงือก โรคฟัน เช่น ขางปากปุด ขางปากเหม็น ขางลิ้นร้อน เป็นต้น ผู้ที่ใช้สมุนไพรสามารถอมได้ตลอดเวลา รสยาส่วนใหญ่มักจะมีรสเผ็ด ฝาดเล็กน้อย เช่น จันทน์จี้หรือ กานพลู ยอดบ่าก้วย เป็นต้น
9. การสูดหรือการรม
มักใช้เฉพาะโรคเท่านั้น เช่น โรคที่เกี่ยวกับฟัน แมงกินฟัน ฟันผุ เป็นต้น จะใช้วิธีการสูดหรือการรม โดยอมควันที่ออกมาจากกระบอก ไม้ไผ่ไว้ประมาณ 3-4 ครั้งต่อ 5 นาที หยุดพักแล้วทำต่อ ทำประมาณ 7-8 วัน จะหายจากอาการปวดฟันได้
10. การนำไปประกอบอาหาร
พืชที่นำไปประกอบอาหาร ส่วนมากจะใช้ยอดหรือใบอ่อน ต้นอ่อนหรือที่เรียกว่าผัก เช่น ยอดมะม่วง ยอดมะกอก ดอกบัว ผักปั๋ง ผักปูลิง เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจประกอบด้วยพืชสมุนไพรหลายชนิดด้วยกันในอาหารอย่างเดียว จึงเป็นการกินเพื่อป้องกันและรักษาไปในตัว
11. การนำไปใช้สดๆ
การนำพืชไปใช้สดๆ โดยไม่ต้องผ่านความร้อนหรือกรรมวิธีใดๆ ส่วนที่ใช้จะเป็นยางจากลำต้น ใบ ก้านใบ การนำสมุนไพรสดไปใช้ทันทีนี้ มักใช้รักษาอาการที่เกี่ยวกับบาดแผลสด แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เช่น ยางหรือเมือกของว่านหางจระเข้ ใช้รักษาแผลไฟไหม้ การอมหรือ เคี้ยวใบฝรั่งสดๆ เพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับช่องปากและฟัน เป็นต้น
รับประทานสมุนไพรวันเดือนเพ็ญหรือ วันขึ้น 15 ค่ำเป็นที่น่าสังเกตว่า ในการรักษาโรคด้วยสมุนไพรนั้น หมอเมืองจะเป็นผู้กำหนดวิธีการใช้กับผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับอาการ ของโรคนั้นๆ บางครั้งจึงมีการดูฤกษ์ยามที่เหมาะสมประกอบด้วย เช่น
- รับประทานสมุนไพรวันเดือนสามดับ
- รับประทานสมุนไพรยามตะวันขึ้น อย่าให้มีเมฆหมอกมาบัง หรือรับประทานก่อนพระอาทิตย์จะตก
- ถ้า เป็นยาต้ม หากเป็นการต้มอาบจะต้องต้มน้ำและอาบทางทิศตะวันตกของเรือน และถ้าจะให้ผลดียิ่งขึ้นตามตำราบอกว่าต้องตั้งขันประกอบด้วยเบี้ย 1,300 หมาก 1,300 เงิน 2 บาท ไต้ 1 เฟื้อง
- หากเป็นการต้มรับประทาน สำหรับโรคบางโรค เช่น มดตะขึด นิ่ว จะต้องต้มนอกชายคาเรือน และปักตาแหลว (เฉลว) ล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน
Like this:
Like Loading...