Tag Archives: การบริโภค
ช่วยกันคิด
โซเดียมคืออะไร?
และการรับประทานมากเกินไปจะมีผลกระทบอย่างไร
โซเดียม เป็นส่วนประกอบของเกลือ ซึ่งเกลือ 1 กรัม จะมีโซเดียมประมาณ 400 มิลลิกรัม
ร่างกายคนเรามีความต้องการโซเดียม ประมาณ 2400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าได้รับมาก ร่างกายจะขับออกโดยไต ทำให้ไตทำงานหนัก
ดังนั้นการที่ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณพอเพียง ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป ก็จะเกิดผลดีต่อการทำงานของไต
เกลือโซเดียมมาจากแหล่งใด และมีผลต่อร่างกายอย่างไร?
เกลือโซเดียม หรือเกลือแกง เป็นตัวหลักของสารที่ให้ความเค็มในเครื่องปรุงรสที่นิยมใช้ คือ น้ำปลา ซอสถั่วเหลือง ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วดำ เต้าเจี้ยว ฯลฯ และยังใช้ในการถนอมอาหารประเภทหมักดองเช่น ผักดอง ผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาร้า ปลาเค็ม เนื้อเค็ม เต้าเจี้ยว เป็นต้น
นอกจากนี้เกลือโซเดียมยังแฝงมากับอาหารอื่นอีก เช่น ขนมอบกรอบ ผงชูรส โดยการกินอาหารที่เค็มจัดที่ได้จากเกลือโซเดียม หรือเกลือแกงมากกว่า 6 กรัม ต่อวัน หรือมากกว่า 1 ช้อนชาขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งจะยิ่งสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่ชอบกินผัก ผลไม้ หรือกินน้อย และการกินอาหารรสเค็มจัด จะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย
ร่างกายของเราไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2400 มิลลิกรัมต่อวัน
วิธีที่ช่วยลดปริมาณการบริโภคโซเดียมมีหลายวิธี เช่น
- หลีกเลี่ยงการบริโภค อาหารรสจัด และอาหารหมักดอง
- ชิมอาหารทุกครั้งก่อนเติมเครื่องปรุง
- เลือกบริโภคอาหารสด หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวที่มีเครื่องปรุงรสปริมาณมาก
- ลด ความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีการปรุงเครื่องปรุงน้ำจิ้ม และลดปริมารน้ำจิ้มที่บริโภคลงด้วย
- ทดลองปรุงอาหารโดยใช้ปริมาณเกลือ น้ำปลา ตลอดจนเครื่องปรุงรสอื่นๆ เพียงครึ่งหนึ่งที่กำหนดไว้ในสูตรปรุงอาหาร ถ้ารสชาติไม่อร่อยจริงๆ จึงค่อยเพิ่มปริมาณของเครื่องปรุงรส
- ปลูกฝังนิสัยให้บุตรหลานกินอาหารรสจืด โดยไม่เติมเกลือ ซีอิ๊วขาว น้ำปลา ตลอดจนซอสปรุงรสในอาหารทารก
- การบริโภคอาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ผัก และผลไม้ จะช่วยลดความดันโลหิต
พิมพ์จากแผ่นพับแจกใน สถาบันโรคทรวงอก http://cdi.thaigov.net