Tag Archives: การดูแลร่างกาย

ผู้หญิงล้านนากับการบำรุงรักษาเรือนกาย

การดูแลรักษาสุขภาพอนามัย และความสวยความงามนับเป็นสิ่งสำคัญและเป็น ยอดปรารถนาของผู้หญิงทุกยุคทุกสมัย แต่จะใช้ อะไร ด้วยวิธีไหน และทำอย่างไร นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าในสมัยนั้นๆ มีวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ครบถ้วน ทันสมัยเพียงใด สำหรับ ผู้หญิงล้านนาในสมัยก่อน แม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะไม่เจริญก้าวหน้าเช่นปัจจุบัน ก็ใช่ว่าผู้หญิงล้านนาจะละเลยหรือไม่สนใจ บำรุงรักษาเรือนกายไม่ ตรงกันข้ามปรากฏว่าผู้หญิงล้านนากลับใช้ความได้เปรียบที่มีสมุนไพรอยู่รอบตัวอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นเครื่อง มือสำคัญ ในการบำรุงรักษาเรือนกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นผม ผิว ปาก มือ เท้า

เรือนผม เส้นผมของผู้หญิงที่คนโบราณถือว่าเป็นมงคล คือ มีเส้นเล็กและอ่อน การเอาใจใส่ดูแลเรือนผมของผู้หญิงล้านนา ใช้พืชธรรม ชาติ การสระผมในแต่ละครั้งของหญิงสาวโบราณ ใช้ฝักส้มป่อยประมาณ 10 ฝัก ย่างไฟให้เหลือง แล้วจึงนำไปแช่น้ำในถังหรือกะละมัง นานประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นใช้มือขยำฝักส้มป่อยกับน้ำ น้ำจะเกิดฟองเล็กน้อย เมื่อจะสระผมให้ก้มหน้าและสยายผมลงไปในถัง แล้วใช้ฝ่ามือตักน้ำราดลงบนศีรษะ พร้อมทั้งใช้มือทั้ง 2 ขยี้และนวดเส้นผม ประมาณ ครึ่งชั่วโมง จึงล้างผมด้วยน้ำเย็น เช็ดให้แห้ง แล้วหวีให้เข้ารูป หลังสระผมแล้วจะรู้สึกได้ว่า หนังศีรษะสะอาด เส้นผมนุ่มสลวยและมีกลิ่นหอม

ต่อมาการสระผมของหญิงสาวใช้ผลมะกรูด โดยเลือกผลแก่มาประมาณ 2-3 ลูก ย่างไฟให้สุก แล้วจึงนำไปแช่น้ำในถังหรือ กะละมังที่เตรียมไว้ แล้วใช้มือขยำลูกมะกรูดให้น้ำมะกรูดผสมเข้ากับน้ำเย็น ก้มศีรษะและสยายผมลง ใช้ฝ่ามือวักน้ำขึ้นราดศีรษะ พร้อมกับขยี้เส้นผม และนวดหนังศีรษะให้ทั่ว ใช้เวลาสระประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วล้างออก เท่านี้ก็รู้สึกได้ว่าหนังศีรษะสะอาด เส้นผม นุ่มสลวยเป็นเงางาม บางคนอาจจะเพิ่มใบหมี่เข้าไปด้วย โดยนำใบหมี่สัก 1 กำมือ มาต้มให้สุก แล้วนำผลมะกรูดย่างไฟใส่ลงไปใน น้ำต้มใบหมี่ จากนั้นจึงขยำผลมะกรูดให้ละลายในน้ำนั้น แล้วจึงนำไปสระผม

ถ้าศีรษะเป็นรังแค มีอาการคัน หญิงสาวจะนำใบตระไคร้ต้มน้ำให้สุก แล้วใช้ผลมะกรูดปิ้งไฟขยำลงไป นำไปสระผม จะช่วยขจัด รังแค และอาการคันศีรษะ

หลังจากสระผม และเช็ดให้แห้งแล้ว จึงลูบไล้ด้วยน้ำมันละหุ่งเพื่อให้ผมดำเป็นเงางาม จากนั้นจึงหวีแต่งผมให้เข้ารูป อาจจะ เกล้ามวยและปักปิ่นหรือประดับดอกไม้เพื่อความสวยงาม

คิ้ว หญิงสาวในสมัยโบราณที่ถูกชมว่าคิ้วสวย จะต้องมีคิ้วโก่งค้อมดุจคันศร และขนคิ้วจะเรียบ ดังนั้นถ้าใครคลอดลูกเป็นหญิง จะต้องลูบคิ้วเพื่อให้สวยเรียบตั้งแต่ยังเป็นทารกแบเบาะ โดยผู้เป็นแม่จะลูบคิ้วในขณะอาบน้ำเด็กทารก โดยการใช้นิ้วมือนิ้วชี้ลูบ ขนคิ้ว ตั้งแต่หัวคิ้วไปจนสุดหางคิ้ว ข้างละประมาณ 3-4 ครั้ง เชื่อว่าเมื่อเด็กโตขึ้นจะมีคิ้วโก่งและมีขนคิ้วสวยเรียบ

หู หญิงใดมีใบหูยาว ถือว่าเป็นหญิงที่มีใบหูสวย ในขณะที่แม่อาบน้ำให้กับทารก จึงใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับที่ใบหูแล้วลูบเบาๆ ตั้งแต่ใบหูด้านบนลงไปถึงติ่งหูด้านล่างเบาๆ ข้างละ 3-4 ครั้ง จะช่วยให้ใบหูของเด็กทารกยาวขึ้นในวันข้างหน้า เมื่อโตขึ้นประมาณอายุ ประมาณ 10 ขวบ ก็นิยมเจาะหูให้เป็นรูสำหรับใส่ต่างหู ลานหู หรือตุ้มหู เพื่อประดับใบหูให้สวยงาม และเพื่อเป็นการถ่วงให้ใบหูยาวลง อีกด้วย

การดูแลเอาใจใส่หูของหญิงสาวแต่ครั้งโบราณเพื่อให้มีหูสวย ในเวลาที่อาบน้ำก็จะใช้นิ้วขัดถูใบหูให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะ ด้านหลังใบหู ส่วนข้างในรูหูจะใช้ปุยฝ้ายพันปลายไม้เล็กๆ แยงเข้าไปเช็ดทำความสะอาด ไม่ให้มีขี้หูเกรอะกรัง

จมูก จมูกที่นิยมกันว่าเป็นมงคล มี 2 ลักษณะ คือ

1. จมูกกลมสั้น เป็นลักษณะจมูกของผู้มีทรัพย์สมบัติ

2. จมูกยาว เป็นลักษณะจมูก ของผู้มีบุญ จมูกของผู้หญิงที่คนโบราณนิยมว่าสวย คือมีดั้งจมูกคมเป็นสัน เป็นแนวตั้งแต่หัวคิ้วลงมาจนจรดปลายจมูก ที่เรียกกัน ว่ามีจมูกโด่ง เป็นจมูกที่ผู้หญิงแทบทุกคนใฝ่ฝันกันมาก บางรายจึงต้องใช้วิธีศัลยกรรมเสริมจมูก คนโบราณก็ชอบการมีจมูกโด่ง เช่นเดียวกับคนปัจจุบัน ดังนั้นผู้เป็นแม่ที่รักความสวยความงาม จะแต่งจมูกให้ลูกตั้งแต่ยังเป็นทารก โดยหลังจากที่อาบน้ำให้ทารก แล้วจะใช้นิ้วมือบีบที่ดั้งจมูกทุกวัน เพราะกระดูก เนื้อ หนัง ของเด็กยังอ่อนบาง สามารถบีบแต่งได้ง่าย

ปาก ปากเป็นส่วนหนึ่งของใบหน้าที่ถือว่าสำคัญ ใบหน้าสวยแต่รูปปากไม่งามก็หมดท่า โดยเฉพาะผู้หญิงถ้ามีรูปปากสวยเป็นคน ที่มีเสน่ห์ รูปลักษณะของปากมีหลายประเภท เช่น ปากรูปกระจับ ปากรูปราหู ปากจู๋ ปากแบน ปากหนา เป็นต้น ปากรูปกระจับ มีลักษะ คล้ายกับกระจับ ที่ขึ้นในน้ำ ถือว่าเป็นรูปปากที่งาม ปากรูปราหู เป็นรูปปากที่ไม่ค่อยสวย และคนโบราณยังเชื่อกันว่า หญิงใดที่มีปาก เป็นรูปราหู มักจะเป็นคนพูดจาร้าย ด่าเก่ง

ปากงามนั้นนอกจากจะมีรูปลักษณะงามแล้ว ผิวของปากต้องมีสีชมพูเรื่อ ขอบปากไม่ดำ ผู้หญิงสมัยโบราณ โดยเฉพาะผู้ที่มี ปากงาม จะคอยรักษาผิวที่ริมฝีปากของเธออยู่เสมอ

สิ่งที่ทำให้ปากหมดสวยคือขณะที่ปาก “เป็นขาง” (ปากนกกระจอก) ซึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่ง คนแต่โบราณเชื่อว่าเกิดจากการ รับประทานขนมหวานและมัน หรือผลไม้ที่หวานมากเกินไป

ถ้าเป็นฤดูหนาวสิ่งที่ทำให้ปากไม่สวย คือสิ่งที่คนล้านนาเรียกว่า “ปากแตก” คือริมฝีปากจะแห้งและตึง จากนั้นหนังจะลอก เป็นขุย บางครั้งอาจถึงกับเลือดออก เชื่อกันว่าการใช้ผ้าห่มคลุมศีรษะเมื่อเวลานอน ทำให้เกิดการปากแตก เมื่อปากแตกจะใช้ “เหงื่อไหข้าว” (คือ ไอน้ำที่เกิดขึ้นขณะนึ่งข้าวเหนียว ผ่านเมล็ดข้าวขึ้นมาเกาะบริเวณไหข้าวด้านใน) ทาริมฝีปาก โดยใช้นิ้วมือแตะ ไอน้ำนั้นแล้วทาบนริมฝีปาก ก็จะหายจากการปากแตก

อีกอย่างหนึ่งที่นิยมใช้ทาปากเมื่อเกิดปากแตก คือ น้ำมันมะพร้าว จะช่วยให้ปากไม่แห้งตึงและยังทำให้ริมฝีปากเป็นมันงาม อีกด้วย ภายหลังมีการใช้นวดหรือครีมทาปากแทน

เล็บมือเล็บเท้า การดูแลเอาใจใส่เล็บมือเล็บเท้าของผู้หญิงสมัยก่อนนั้น ถ้าเป็นหญิงที่เกิดในตระกูลสูง การดูแลง่าย เพราะมีมือมีเท้าที่สะอาด อยู่แล้ว เพียงแต่คอยตัดแต่งด้วยมีดขนาดเล็กไม่ให้มีเล็บยาวมากเกินไป และใช้ด้านในของใบตองกล้วยแห้งขัดถู จะทำให้เล็บ ไม่หนาและเป็นเงางาม

ส่วนผู้หญิงชาวบ้านทั่วไป มีความลำบากในการเอาใจใส่ดูและเล็บมือเล็บเท้า ถ้าเป็นฤดูทำนาก็ยิ่งลำบากมากขึ้น เพราะการ ทำนาต้องแช่อยู่กับน้ำกับดินตลอด จึงทำให้เล็บหนาและดำ แต่หญิงชาวบ้านชาวนาก็พยายามเอาใจใส่เพื่อให้มีเล็บงามเท่าที่จะทำได้ ถ้าเป็นเล็บมือจะตัดแต่งด้วยปลายมีดที่ใช้ผ่าลูกหมาก ใช้ไม้แคะเอาเศษดินออก ถ้าเล็บหนาใช้เศษกระจกขูดให้บาง และคอยล้างด้วย น้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาวเพื่อช่วยให้เล็บขาวและสะอาด ถ้าเป็นเล็บเท้าจะเอาใจใส่คล้ายเล็บมือ แต่เล็บเท้ายากกว่า เพราะเท้าจะ แช่อยู่ ในโคลนเมื่อเวลาทำนา ถ้าเล็บแดงเพราะน้ำราก (น้ำที่มีสนิมเหล็กเจือปน มีสีเหลืองๆ ส้มๆ) ก็จะใช้น้ำหินส้ม (สารส้ม) ล้างเป็นประจำ

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บแม่ญิงล้านนา