คืนวันที่ 2 ธ.ค 1984 เป็นคืนที่สดใสท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาว และเป็นคืนแห่งเทศกาลและความรื่นเริงเพราะผู้คนจำนวนมากไปชุมนุมกันตามจุดต่างๆในเมือง Bhopal เมืองหลวงแห่งรัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย เพราะเป็นคืน “มุไชรา” เพื่อฟังเพลงและกาพย์กลอน กวีจะร่ายกลอนในภาษาอูรดูที่พรรณนาถึงความทุกข์และความสุข แห่งชีวิต ความตายและวิญญาณที่เป็นอมตะ
เมื่องานสิ้นสุดชาวเมืองต่างกลับบ้านนอน จึงไม่มีใครรู้เลยว่าความตายค่อยๆใกล้เข้ามา เพราะช่วงหลังเที่ยงคืน หมอกมรณะสีขาวมัวค่อยๆแพร่กระจายออกจากโรงงาน Union Carbide India Limited ( UCIL ) ลอยไปในอากาศแล้วแผ่เข้าสู่บ้านเรือน หมอกนั้นคือ Methylisocyanate ( MIC ) ซึ่งใช้ผลิตยาฆ่าแมลงในรูปของแก๊ซที่รั่วจากถังเก็บขนาด43 ตันในโรงงานโดยไม่มีสัญญาณเตือนภัยใดๆที่แจ้งให้รู้ ปีนั้นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองมีประมาณ 900,000 คน และจำนวนมากที่อาศัยอยู่ตามสลัม แก๊ซ MICนั้นหนักกว่าอากาศ ดังนั้นจึงลอยในระดับไม่สูงเหนือพื้นดิน และทิศทางลมก็พามันเข้าไปสู่ตัวเมือง
ที่สถานีรถไฟในช่วงเวลาที่แก๊ซเริ่มรั่ว ผู้คนจำนวนหนึ่งยังคงทำหน้าที่ของตนตามปกติ เมื่อหมอกมรณะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่บริเวณสถานีนั้นยังไม่มีใครเฉลี่ยวใจ จนกระทั่งพวกเขาเริ่มไอ ตามมาด้วยอาเจียนอย่างรุนแรง หายใจลำบาก และตาเบิ่งกว้างและบอดอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็หายใจไม่ออกและตายในที่สุด บางคนที่ยังไม่สูดแก๊ซพิษเข้าไปและรู้ถึงความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นก็พยายามติดต่อกับสถานีก่อนหน้าที่จะวิ่งเข้าไปยังสถานี Bhopal รถหลายขบวนหยุดได้ทันก่อนถึงสถานี ยกเว้นขบวนหนึ่งที่แล่นเข้าไปจอดโดยไม่ทราบ เมื่อท้องฟ้าสว่าง ผู้โดยสารบนรถไฟกลายเป็นศพทั้งหมด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในสถานีอีก 23 ศพ
ผู้คนที่หลับอยู่ในบ้านก็มีอาการเหมือนคนที่สถานี เริ่มด้วยเสียงไอและอาเจียนของเด็กดังขึ้นก่อน จากนั้นผู้ใหญ่ก็มีอาการเช่นเดียวกัน เสียงไอและอาเจียนระงมไปแทบทุกครัวเรือนที่แก๊ซมรณะแทรกเข้าถึง ตามด้วยเสียงร้องอย่างทรมานของผู้คนเพราะมีอาการเหมือนดวงตาและลำคอถูกไฟเผา เมื่อเสียงเงียบลงนั่นหมายถึงเจ้าของเสียงกลายเป็นศพแล้ว คนจำนวนมากวิ่งหนีออกจากบ้านเพราะคิดว่าจะเอาตัวรอดได้ แต่นั่นเท่ากับพาตัวเองไปสู่ความตายเร็วขึ้น เมื่อไอหมอก MIC กระจายไปมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนจึงล้มลงตายระเกะระกะทั่วท้องถนน บางคนกระโดดลงในปลักโคลนเพื่อให้พ้นจากแก๊ซมรณะ แต่ในไม่ช้าก็กลายเป็นศพในปลักนั้นทุกหนทุกแห่งเต็มไปด้วยศพ ผู้ป่วยจำนวนมหาศาลเข้าไปพบแพทย์ แต่ที่น่าเศร้าคือ ที่โรงพยาบาลทุกแห่งไม่มียาใดๆที่ใช้รักษาอาการที่เกิดจากการรับแก๊ซมรณะนั้นได้เลย ได้แต่ให้ยาแก้ไอกับยาหยอดตากับผู้ป่วยทั้งหลายเท่านั้น แม้กระทั่งที่โรงงาน UCIL เองก็ไม่มียาแก้พิษเตรียมไว้ในกรณีฉุกเฉินแม้แต่น้อย เด็กจำนวนมากที่ถูกส่งเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลต้องเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาพ่อแม่และแพทย์พยาบาล ส่วนแพทย์และพยาบาลอีกไม่น้อยที่ก็ตกเป็นเหยื่อของแก๊ซมรณะเช่นกัน
รุ่งเช้าวันที่ 3 ธ.ค ภาพที่น่าสลดหดหู่ก็เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นๆ ภาพแม่ที่เคยเห็นกอดลูกน้อยอยู่หน้าบ้านกลายเป็นศพนอนด้วยกันบนถนนหน้าบ้าน ภาพเด็กวัยต่างๆที่เคยวิ่งเล่นสนุกสนานกลายเป็นภาพศพที่น่าเศร้า ถนนแทบทุกสายมีแต่ร่างไร้วิญญาณของชาวเมือง และสัตว์เลี้ยงอีกจำนวนหลายพันตัว เช่น วัว ควาย สุนัข แมว และนก
เฉพาะในคืนนั้นมีผู้เสียชีวิตไปแทบจะทันที่ที่ได้รับแก๊ซพาเข้าไปราวกว่า 2000 คน อีกประมาณ 6000 คน เสียชีวิตใน 2 สัปดาห์ต่อมา ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ตามโรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนป่วยและศพ ดังนั้นประชาชนที่ปลอดภัยต่างก็ช่วยกันจัดการกับศพคนตาย เนื่องจาก Bhopal เป็นเมืองที่มีทั้งคนฮินดูและมุสลิม ดังนั้นต้องแยกศพไม่ให้ปะปนกัน ศพที่เป็นฮินดูก็นำไปเผารวมกันตามที่ว่างต่างๆในเมือง ส่วนศพที่เป็นมุสลิมก็ใช้วิธีฝังในหลุมขนาดใหญ่ การเผาต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะหมด
ว่ากันว่าหลังจากเกิดเหตุขึ้นไม่นานเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่างพากันหนีออกนอกเมืองกันหมด แถมประชาชนต้องแตกตื่นหนีตายกันอีกเมื่อมีข่าวแพร่ออกไปว่าทางการจะอนุญาตให้ปล่อยแก๊ซที่เหลืออยู่ในถังออกให้หมด ต่อมาทางการจัดรถบัสจำนวนเกือบหนึ่งพันคันไปเพื่ออพยพผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ออกไปอยู่นอกเมือง บ้างก็ใช้พาหนะของตนเอง และอีกเป็นจำนวนมากที่ไปด้วยเท้าของพวกเขา ในช่วงเวลาหลายวันหลังวันที่ 3 ธ.ค. รถไฟจำนวนมากที่วิ่งผ่าน Bhopal จะไม่หยุดจอดที่นั่น แม้ผ่านช่วงวิกฤตไปแล้ว ผู้โดยสารที่อยู่บนรถก็จะไม่ยอมเปิดประตูให้คนจาก Bhopal ขึ้นรถไปด้วย เพราะกลัวจะได้รับแก๊ซพิษด้วย ภาพที่น่าหดหู่ของครอบครัวชาว Bhopal ที่รอขึ้นรถไฟแต่ขึ้นไม่ได้จึงมีให้เห็นอยู่หลายวัน
โรงงานต้นเหตุถูกสั่งปิดทันทีหลังเกิดเหตุ และหลังจากเหตุร้ายผ่านไปการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุก็เริ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปยังโรงงาน UCIL เพื่อหาคำตอบของภัยพิบัติครั้งเลวร้ายที่สุดนี้ ซึ่งพวกเขาพบปัญหามากมายที่นั่น มาตรฐานความปลอดภัยที่โรงงานใน Bhopal ถือว่าหละหลวมอย่างน่าอันตราย เมื่อเทียบกับโรงงานของยูเนี่ยน คาร์ไบด์ในยุโรปและอเมริกา อุปกรณ์สำคัญๆขาดการซ่อมบำรุงและหมดสภาพ เจ้าหน้าที่มีน้อยเกินไปและไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดีพอในการรักษาความปลอดภัย ที่โรงงานไม่มีแผนจัดการความเสียหายที่อาจส่งผลต่อเมืองที่อยู่โดยรอบ ซึ่งพอจะสรุปปัญหาต่างๆได้ดังนี้
ตามการออกแบบนั้น จะมีระบบป้องกันจัดการกับแก๊ซที่รั่วจากถังถึง 6 ขั้นตอน แต่พบว่าทั้ง 6 ขั้นตอนนั้นใช้งานไม่ได้เกือบทั้งสิ้น ผู้เชี่ยวชาญพบว่าจุดหนึ่งของถังเก็บ MIC นั้นเชื่อมต่อเข้ากับท่อน้ำ และวาล์วที่ควบคุมการไหลผ่านของน้ำนั้นมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ จึงน่าจะมีน้ำรั่วไหลเข้าในถัง เมื่อน้ำเข้าไปผสมกับ MIC จึงเกิดความร้อนและแรงดันสูงขึ้น แต่ระบบทำความเย็นควบคุมอุณหภูมิของถังกลับไม่ทำงาน ทำให้ความร้อนและแรงดันสูงขึ้นเรื่อยๆจนเกินกว่าที่ถังจะทนได้จึงเกิดการรั่วไหล ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีคนงานเอาน้ำไปฉีดเพื่อลดอุณหภูมิถังด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งยิ่งทำให้แก๊ซเกิดความร้อนมากขึ้นไปอีก
หลายเดือนก่อนที่จะเกิดเหตุร้าย นักวิทยาศาสตร์ของ UCIL ได้ทำรายงานเตือนเรื่องความเป็นไปได้ที่อาจเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากในช่วงนั้นมีการลดคนในบริษัทจากผลยอดขายที่ตก ทำให้คนงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบระบบต่างๆมีไม่พอ
อุปกรณ์หลายอย่างที่ชำรุดเสียหายไม่ได้รับการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนตามอายุงาน เช่นระบบทำความเย็นสำหรับลดอุณหภูมิถังเก็บ MIC ก็ไม่เปิดใช้ จากการตรวจสอบพบว่าน้ำยาในระบบทำความเย็นก็มีน้อยมาก แต่ก็ยังทำงานได้หากเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมระบบเปิดใช้งานมัน
ระบบม่านน้ำที่ช่วยลดความเข้มข้นของแก๊ซใช้งานได้ แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร เนื่องจากปริมาณการรั่วของแก๊ซมีมากเกินความสามารถของระบบ นอกจากนั้นไซเรนเตือนภัยเพื่อแจ้งเหตุร้ายให้ชาวเมืองรู้ก็ทำงานได้ดี แต่หลังจากที่เสียงไซเรนดังขึ้นไม่นานก็มีคำสั่งให้ปิดลง เนื่องจากผู้ควบคุมคิดว่าสามารถจัดการกับปัญหาได้และเกรงว่าจะทำให้ชาวเมืองแตกตื่นในยามวิกาลเช่นนั้น
ในกรณีที่ยังมีการรั่วของแก๊ซ MIC ออกมาได้ ก็มีระบบเผาแก๊ซเหล่านั้นก่อนที่มันจะฟุ้งกระจายไปในอากาศ แต่ในวันที่เกิดเหตุระบบดังกล่าวก็ใช้งานไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างซ่อมแซม
ความรับผิดชอบของ UCIL
UCIL มอบเงินช่วยเหลือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายผ่านรัฐบาลอินเดียจำนวน 470 ล้านดอลล่าห์ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้คนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งต้องรักษาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
และมีการสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลสำหรับใช้รักษาผู้บาดเจ็บ และส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำและช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล นอกจากนั้นสนับสนุนการเงินให้กับผู้เชี่ยวชาญของอินเดียที่ทำการวิจัยเพื่อหาทางเยียวยาผู้ประสบภัยทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับ MIC และพิษของมันในส่วนที่ทั้งเคยและไม่เคยได้รับการเผยแพร่มาก่อนต่อรัฐบาลอินเดีย
หลังวันเกิดเหตุไม่กี่วัน ประธานใหญ่ของ UCC วอเรน แอนเดอร์สัน ก็เดินทางไปอินเดียและถูกจับ แต่เขาก็ได้รับการประกันตัวไม่นานหลังจากนั้นและหนีออกนอกประเทศไปในที่สุด เขาหลบซ่อนตัวอยู่ในที่ไม่มีใครรู้อยู่หลายปี จนกระทั่งมีคนพบแอนเดอร์สันอยู่ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือน ก.ย 2015 ที่ผ่านมานี้เอง
และมีผู้บริหารระดับสูงของ UCIL 8 คน ถูกตัดสินโดยศาลว่ามีความผิดในคดีดังกล่าวเมื่อกลางปี 2010
ผลกระทบต่อเนื่อง
นอกจากผู้ที่เสียชีวิตเพราะรับแก๊ซพิษตั้งแต่หลังวันเกิดจนบัดนี้เหตุราว 20,000-30,000 คนแล้วยังมีผู้ที่พิการและป่วยเรื้อรังอีกกว่าแสนคนที่ยังทุกข์ทรมานจนทุกวันนี้ อาการของพวกเขามีต่างๆนาๆ ได้แก่ ตาบอด เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เป็นมะเร็ง ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ระบบประสาทผิดปกติ ผู้หญิงมีอาการประจำเดือนมาผิดปกติ เด็กที่เกิดใหม่พิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เด็กมีลักษณะแก่เกินวัย
นอกจากผู้คนที่ได้รับแก๊ซพิษเข้าไปจะมีปัญหาในระยะยาวแล้ว โรงงาน UCILซึ่งมีสารพิษจำนวนมากตกข้างอยู่ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นด้วยปี 2009 ศูนย์ควบคุมมลภาวะของอินเดียชื่อ The Centre for Science and Environment (CSE) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า น้ำบาดาลในรัศมี 3 กิโลเมตรจากโรงงานมีสารพิษปะปนอยู่ด้วย และในปีเดียวกัน ทางสถานี BBC ของอังกฤษได้ทำการสุ่มตัวอย่างน้ำบาดาลที่ชาวบ้านสูบขึ้นมาด้วยเครื่องสูบแบบมือโยก จุดที่ทำการสุ่มนั้นอยู่ทางทิศเหนือของโรงงาน ผลตรวจที่อังกฤษพบว่าน้ำมีค่าของ carbon tetrachloride ซึ่งเป็นสารพิษละลายอยู่สูงถึง 1000 เท่า เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
ปัจจุบันนี้ บริษัทดาวน์ เคมีคัล ของสหรัฐเข้าไปซื้อกิจการของบริษัท ยูเนี่ยน คาร์ไบด์แล้ว และปฏิเสธความรับผิดชอบที่คนจำนวนมากเรียกร้องอยู่ ส่วนที่ดินบริเวณที่เป็นโรงงานร้างของ UCIL ก็หมดอายุการเช่า ปัจจุบันจึงอยู่ในความดูแลของรัฐ พร้อมกับสารพิษจำนวนมหาศาลในบริเวณนั้นที่ยังตกค้างอยู่ ด้านชาวเมืองผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากภัยครั้งนั้นก็ยังคงเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป
ขอบคุณที่มา : Kiattiyod Buranawanich , ผู้ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์