ยาส่วนใหญ่กับมื้ออาหาร แบ่งหลัก ๆ หยาบ ๆ เป็น :
• ยาห้ามกินพร้อมอาหาร หรือต้องกินตอนท้องว่าง (แพทย์มักกำหนดเจาะจงให้กินก่อนอาหาร 15-30 นาที)
• ยาที่ไม่มีผลกับอาหาร ขอแค่กินตามเวลาเท่านั้น
• ยาที่ต้องกินพร้อมอาหาร

ภาพ : thaihealth.or.th
สมัยก่อนกว่า 30-40 ปีที่แล้ว คนไทยเรากินข้าวเป็นมื้อ เป็นเวลา เพราะครอบครัวใหญ่จะทำกับข้าวทีเดียวในมื้อหลัก แล้วรวมกินพร้อมกัน
มื้ออาหารของคนไทยจึงเป็นอะไรที่มีความแน่นอนกว่ายุคสมัยนี้ วัฒนธรรมแบบนี้ตามต่างจังหวัดยังมีอยู่บ้าง แต่ในเมืองหาได้ยากแล้ว
แพทย์รุ่นก่อน ๆ จึงนิยมเขียนใบสั่งยาว่า “หลังอาหาร” เป็นหลัก เพื่อป้องกันคนไข้ลืมกินยา (นัยว่า กินข้าวเสร็จมักจะได้กินยาตามโดยกิจวัตร ระหว่างสมาชิกครอบครัวกำลังกินของหวาน)
แม้ว่ายานั้นจะไม่จำเป็นต้องกินหลังอาหารเลยก็ตาม
แต่ปัจจุบันนี้ คนไทยยุคใหม่ โดยเฉพาะในเมือง กินข้าวไม่เป็นมื้อเป็นเวลา บ้างไม่กินมื้อเช้า บ้างกินรวบมื้อกลางวัน บ้างไม่กินมื้อเย็น บางทำงานโต้รุ่งตื่นบ่าย บ้างทำงานเป็นกะ
การที่แพทย์หลายท่านยังคงสั่งยาตามความเคยชินเก่า ๆ ว่า “หลังอาหาร” จึงก่อผลเสียมากกว่าผลดี
(โรงพยาบาลใหญ่ ๆ หลาย ร.พ. ห้องยาตั้งค่าเบื้องต้นมาแบบนั้น ซึ่งหลายครั้ง แพทย์ก็ไม่ได้แก้ ตั้งหลังอาหาร ก็หลังอาหารไป)
การปรับยาตามความจริง และการดำรงจริง ๆ ของคนไข้มีความสำคัญ
จะ “หลังอาหาร” ทำไม ในเมื่อยาตัวนั้นกินให้ตรงตามเวลาก็พอแล้ว
ข้าพเจ้าเคยพบผู้ป่วยที่ขาดยาความดันโลหิต ถึง 3 วัน
เพียงเพราะ ฉลากยากบอกว่า “ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า” คนไข้ไม่ว่างกินข้าวเช้ามา 3 วัน เลยไม่กล้ากินยา
ทั้ง ๆ ที่ยาความดันโลหิตไม่กัดกระเพาะ และไม่มีผลกับอาหาร ขอเพียงกินทุกวันโดยต่อเนื่องเท่านั้น
ทั้งนี้ รวมถึงการสั่งยาในช่วงรอมฎอนด้วย
ถ้าสั่งยากินวันละครั้งตอนเช้า คนไข้อาจขาดยา อันนี้ก็ต้องปรับเวลาในฉลาก และอธิบายคนไข้ให้ดี
ขอบคุณที่มา : สิทธิ์ธีราห์ ชโรเต้อร์