
ภาพ : สำนักข่าวเจ้าพระยา
ผู้ต้องขังทุกคนต้องสังกัดกองงาน ส่วนผู้ต้องขังพิการ, ผู้ต้องขังสูงอายุที่ทำงานไม่ไหว และผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจะสังกัด “กองกลาง” ซึ่งเป็นกองงานที่ไม่ต้องทำงาน ผู้ต้องขังทุกคนต้องทำงานตามกองงานที่เรือนจำกำหนด บางกองงานที่เป็นงานบริการ เช่น กองงานโรงเลี้ยง, กองงานเรือนนอน และกองงานโยธา กองงานเหล่านี้ไม่มีเกณฑ์กำหนดการทำงาน
ผู้ต้องขัง VIP-มีฐานะหลายคนสังกัดกองกลาง แม้พวกเขาจะไม่เข้าข่ายก็ตาม แต่ผู้ต้องขัง VIP-มีฐานะอีกหลายคนสังกัดกองงานที่ต้องทำงาน บางคนมีชื่ออยู่ในกองงาน แต่พวกเขาไม่ต้องทำงาน บางคนต้องทำงาน แต่งานของพวกเขาสามารถจ้างผู้ต้องขังรับจ้างทำงานแทนได้
– รับจ้างทำงานในกองงาน : กองงานที่เป็นงานโรงงาน เช่น กองงานแผ่นพับ, กองงานปลั๊กไฟ และกองงานร้องเท้า เจ้าหน้าที่เรือนจำจะกำหนดปริมาณงานที่ผู้ต้องขังแต่ละคนต้องทำในแต่ละวัน
เรือนจำจะรับงานจากบริษัทเอกชนภายนอกเรือนจำเข้ามาทำในเรือนจำ โดยใช้แรงงานผู้ต้องขังเป็นหลัก กองงานจะเปิดเวลา 8.30-14.00 น. โดยหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
ปริมาณงานในแต่ละกองงานขึ้นอยู่กับจำนวนงานที่ได้รับ เช่น กองงานแผ่นพับซึ่งทำกรวยกระดาษสำหรับน้ำดื่ม ผู้ต้องขังอาจถูกกำหนดให้ต้องพับกรวยกระดาษวันละ 600-1,000 ชิ้น หากผู้ต้องขังในกองงานไม่สามารถทำงานได้ในปริมาณที่กำหนดอาจถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำ-พี่เลี้ยงลงโทษ เช่น การถูกตีด้วยไม้ก๊อง หรือการเพิ่มปริมาณงานในวันต่อไป
ขณะที่ผู้ต้องขังที่ชำนาญงาน โดยเฉพาะผู้ต้องขังชาติเพื่อนบ้าน (กัมพูชา และเวียดนาม) สามารถทำงานได้ปริมาณมากกว่าที่เจ้าหน้าที่เรือนจำกำหนด การหารายได้จึงเกิดขึ้น บางคนจ้างผู้ต้องขังรับจ้างทำงานแทนตนเองทั้งหมด ค่าจ้างเดือนละ 2,000 บาท บางคนอาจทำงานบางส่วน และซื้องานบางส่วนจากพวกเขาในราคา 100-200 ชิ้นต่อ 1 ซอง
– บริการทำความสะอาดห้องนอน : ห้องนอนแต่ละห้องมีข้อบังคับให้ผู้ต้องขังภายในห้องทำความสะอาด ส่วนใหญ่หัวหน้าห้องจะกำหนดให้ผู้ต้องขังใหม่ที่ยังไม่จำแนกแดนเป็นผู้ทำความสะอาด
การทำความสะอาดมีตั้งแต่การเช็ดพื้นห้องนอนไปจนถึงการล้างบล็อก หัวหน้าห้องจะเลือกผู้ต้องขังใหม่ทำหน้าที่เหล่านี้วันละ 2 คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามจำนวนผู้ต้องขังใหม่ในแต่ละสัปดาห์
ผู้ต้องขังใหม่จะต้องทำงานเหล่านี้จนกว่าจะจำแนกแดน หากมีผู้ต้องขังใหม่จำนวนมากพวกเขาอาจทำเพียง 1-2 ครั้ง หากมีผู้ต้องขังใหม่จำนวนน้อยพวกเขาอาจต้องทำ 3-4 ครั้ง
บางห้องหัวหน้าห้องจะเก็บ นมกล่อง-มาม่า จากผู้ต้องขังเก่าเพื่อมอบให้กับผู้ต้องขังใหม่ที่ทำงานเป็นค่าตอบแทน แต่บางห้องใช้แรงงานผู้ต้องขังใหม่โดยไม่จ่ายค่าตอบแทน หากผู้ต้องขังใหม่คนใดไม่ต้องการทำความสะอาดห้องสามารถจ้างผู้ต้องขังใหม่ด้วยกันทำงานแทน ค่าจ้างทำความสะอาดเป็นนมกล่อง (ไวตามิลค์ หรือโฟร์โมสท์) วันละ 2 กล่อง ส่วนห้องนอนผู้ต้องขัง VIP (ห้อง 11, 12, 13) พวกเขาเลือกที่จะจ้างผู้ต้องขังรับจ้างจากห้องอื่นมาทำความสะอาดห้องนอนให้แทน ค่าบริการเป็นบุหรี่คนละ 1 ซองต่อคนต่อเดือน
อย่างไรก็ตามผู้ต้องขังขาใหญ่มักชักนำผู้ต้องขังที่ยากจนมาอยู่ในบ้านของตนเอง ผู้ต้องขังขาใหญ่บางคนเลี้ยงลูกน้องหลายสิบคนเพื่อสร้างบารมี หรือใช้แรงงานราคาถูกเหล่านี้
หากเป็นผู้ต้องขังที่มีชื่อเสียง ผู้ต้องขังลูกน้องเหล่านี้อาจไม่ต้องทำงานในกองงาน พวกเขามีหน้าที่เพียงเช็คชื่อตามกองงานวันละ 2 ครั้ง (เวลา 8.30 น. และ 13.00 น.)
ผู้ต้องขังลูกน้องเหล่านี้ต้องรับใช้ผู้ต้องขังขาใหญ่ตามแต่ที่เจ้านายของพวกเขาต้องการ ส่วนใหญ่คือ การซักผ้า-เครื่องนอน, การต่อแถวซื้อของ-รับของฝาก และการเตรียมโต๊ะอาหาร ผู้ต้องขังเหล่านี้ทำงานแบบเดียวกับผู้ต้องขังรับจ้าง เพียงแต่พวกเขาทำงานให้กับเจ้านายของพวกเขาเป็นการส่วนตัว ชีวิตของพวกเขาจึงไม่ต่างจากคนรับใช้ส่วนตัว
หากเป็นผู้ต้องขังที่มีชื่อเสียง ลูกน้องอาจได้รับเงิน 2,000-3,000 บาทต่อเดือน หากเป็นผู้ต้องขังขาใหญ่ ลูกน้องอาจทำงานเพื่อแลกกับอาหาร-ของใช้ส่วนตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนิสัยของเจ้านายของพวกเขา
ลูกน้องที่ทำงานถูกใจเจ้านายของพวกเขาอาจได้ทำงานต่อ เมื่อพวกเขาพ้นโทษ โดยเจ้านายของพวกเขาจะทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้กับลูกน้องเพื่อติดต่อในภายหลัง
ขอบคุณที่มา : เอกชัย หงส์กังวาน