ตำนานเพชรโฮป (2)

การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นเหตุของการสูญหายของเพชรนี้ในช่วงปี พ.ศ. 2335-2355 จนเกิดข่าวลือหลายกระแสถึงผู้ที่ต้องอาถรรพ์จากเพชรนี้ วันนี้ผมจะเขียนถึงตำนานเหล่านี้

15032235_253419961739479_3242257156904311585_n

ตำนาน : เพชรนี้นำหายนะมาสู่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส, มารีอ็องตัวแน็ต (ภรรยาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส) และเจ้าหญิงมาเรียหลุยส์แห่งซาวอย (หลานของพระเจ้าวิตโตรีโออาเมเดโอที่ 2 แห่งซาร์ดิเนีย)

ในปี พ.ศ. 2258 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสสิ้นพระชนม์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส (หลานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส) จึงได้รับมอบเข็มกลัดนี้เป็นมรดก
ในปี พ.ศ. 2292 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสสั่งให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำ (Ordre de la Toison d’or) สำหรับพระองค์ และให้ย้ายน้ำเงินแห่งฝรั่งเศสจากเข็มกลัดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสมาประดับบนเครื่องราชนี้แทน
ในปี พ.ศ. 2317 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสสิ้นพระชนม์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (หลานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส) จึงได้รับมอบเครื่องราชนี้เป็นมรดก
หลายปีต่อมาฝรั่งเศสประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากหนี้สินของประเทศ และการขาดแคลนอาหาร ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากก่อจลาจลจนนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ. 2332 การปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มตึงเครียด พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสกับมารีอ็องตัวแน็ตตัดสินใจหลบหนีออกจากกรุงปารีสไปจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสกับมารีอ็องตัวแน็ตถูกจับกุมที่เมืองวาแรน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส) และถูกคุมขังอยู่ในพระราชวังทุยเลอรี (ปัจจุบันอยู่ในกรุงปารีส) เครื่องเพชรแห่งราชวงศ์ฝรั่งเศสจึงถูกยึดเป็นของรัฐบาลแห่งคณะปฏิวัติแทน
ในปี พ.ศ. 2335 เจ้าหญิงมาเรียหลุยส์แห่งซาวอยสามารถหลบหนีไปกรุงลอนดอนได้สำเร็จ แต่พระนางตัดสินใจเดินทางกลับมาหามารีอ็องตัวแน็ตอีกครั้งเพื่ออยู่ร่วมกับพระนาง
เจ้าหญิงมาเรียหลุยส์แห่งซาวอยถูกจับกุมในระหว่างการจลาจลในเดือนกันยายน ต่อมาคณะปฏิวัติบังคับให้พระนางประณามราชวงศ์ฝรั่งเศส แต่พระนางปฏิเสธ พระนางจึงถูกโยนใส่ฝูงชนฝรั่งเศสจนถูกสังหาร กลุ่มโจร 6 คนลักลอบขโมยเครื่องเพชรแห่งราชวงศ์ฝรั่งเศสออกจากคลังเก็บเครื่องเพชรแห่งราชวงศ์ฝรั่งเศส (ปัจจุบันอยู่ในกรุงปารีส) หลายวันต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสสามารถตามคืนเครื่องเพชรหลายชิ้นรวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำ แต่น้ำเงินแห่งฝรั่งเศสบนเครื่องราชนี้กลับสูญหาย
ในปี พ.ศ. 2336 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสกับมารีอ็องตัวแน็ตถูกพิพากษาให้มีความผิดฐานสมคบต่างชาติเพื่อก่อกบฎ ทั้ง 2 พระองค์ถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน
เพชรนี้อยู่ในความครอบครองของราชวงศ์ฝรั่งเศสนานถึง 124 ปี อีกทั้งไม่มีหลักฐานการสวมใส่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส, มารีอ็องตัวแน็ต และเจ้าหญิงมาเรียหลุยส์แห่งซาวอย การล่มสลายของราชวงศ์ฝรั่งเศสจึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับอาถรรพ์ของเพชรนี้

ตำนาน : ผู้ครอบครองเพชรนี้หลังการจารกรรม

ช่วงปี พ.ศ. 2335-2355 ข่าวลือการสูญหายของเพชรนี้มีหลายกระแส โดยมีผู้ต้องสงสัย 2 คนคือ คาเด็ท กิโยท (นักจารกรรม) และจอร์เจส-ฌาคส์แดนตัน (แกนนำปฏิวัติฝรั่งเศส)
– กระแสที่ 1 : คาเด็ท กิโยท ลักลอบนำเครื่องเพชรหลายชิ้นรวมทั้งเพชรนี้ไปกรุงลอนดอน และจำหน่ายเครื่องเพชรบางส่วนให้กับผู้ค้าเพชรในตลาดมืด แต่ยังคงเก็บเพชรนี้อยู่
คาเด็ท กิโยท ประสบปัญหาการเงินอย่างหนักจนถูกลันเคร-เดอลาลอยัลเล่ (เจ้าหนี้ของ คาเด็ท กิโยท) ฟ้องร้อง เขาจึงนำเพชรนี้ซุกซ่อนในที่ปลอดภัยก่อนที่ศาลจะพิพากษาจำคุกเขา (ในยุคนั้นผู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้สินให้กับเจ้าหนี้ได้จะถูกศาลลงโทษจำคุกแทน) ในปี พ.ศ. 2339 หลังจากพ้นโทษเขาจึงจำหน่ายเพชรนี้ให้กับผู้อื่น
– กระแสที่ 2 : คาเด็ท กิโยท ประสบปัญหาการเงินอย่างหนักจนถูกลันเคร-เดอลาลอยัลเล่ฟ้องร้อง เขาจึงนำเพชรนี้ชำระหนี้ให้กับลันเคร-เดอลาลอยัลเล่ แต่ลันเคร-เดอลาลอยัลเล่กลับยึดเพชรนี้ไป และยังคงฟ้องร้องเขาต่อจนเขาต้องถูกจำคุก ต่อมาลันเคร-เดอลาลอยัลเล่จำหน่ายเพชรนี้ให้กับผู้อื่น
– กระแสที่ 3 : จอร์เจส-ฌาคส์แดนตันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจารกรรมครั้งนั้น เขาได้รับส่วนแบ่งเป็นเครื่องเพชรหลายชิ้นรวมทั้งเพชรนี้ และซุกซ่อนเพชรนี้ไว้กับตนเอง
จอร์เจส-ฌาคส์แดนตันใช้เพชรนี้ติดสินบนให้กับชาร์ลวิลเลียม-แฟร์ดิน็องด์ (ดยุคแห่งบรอนวิก-วูเฟนบัตเตล) ในช่วงที่ปรัสเซีย (ปัจจุบันคือ เยอรมัน) โจมตีฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2335

ตำนาน : ผู้ตัดเพชรนี้เป็น 2 ชิ้น

ในปี พ.ศ. 2355 ดาเนียล เอเลียสัน (ผู้ค้าเพชรอังกฤษ) ประกาศขายเพชรสีน้ำเงินขนาด 45.54 กะรัตผ่านทางหนังสือพิมพ์ สร้างความประหลาดใจต่อวงการค้าเพชรอังกฤษอย่างมาก เนื่องจากเพชรสีน้ำเงินขนาดใหญ่ไม่ใช่เพชรที่หาได้ง่าย แม้เพชรสีน้ำเงินนี้จะมีขนาดเล็กกว่า “น้ำเงินแห่งฝรั่งเศส” แต่วงการค้าเพชรอังกฤษเชื่อว่า เพชรสีน้ำเงินนี้คือ “น้ำเงินแห่งฝรั่งเศส” ที่ถูกตัดแต่ง
ในยุคนั้นข้อหาจารกรรมมีอายุความ 20 ปี ผู้ครองครองเพชรนี้จึงนำเพชรนี้ออกจำหน่ายหลังคดีนี้หมดอายุความ แต่เพชรนี้ต้องถูกตัดแต่งเพื่อการอำพราง ข่าวลือการตัดเพชรนี้ออกเป็น 2 ชิ้นมีหลายกระแส โดยหลายคนเชื่อว่า เพชรนี้ถูกตัดในอังกฤษมากกว่าในฝรั่งเศส
– กระแสที่ 1: หลังจากที่ คาเด็ท กิโยท หรือ ลันเคร-เดอลาลอยัลเล่ จำหน่ายเพชรนี้ต่อให้ผู้อื่น ผู้รับซื้อเพชรนี้นำเพชรนี้ไปให้ วิลเฮล์ม ฟอลส์ (ช่างเจียระไนเพชรดัชต์) ตัดเป็น 2 ชิ้น
– กระแสที่ 2: ชาร์ลวิลเลียม-แฟร์ดิน็องด์นำเพชรนี้ไปที่กรุงลอนดอน เขาให้ช่างเจียระไนเพชรตัดเพชรนี้เป็น 2 ชิ้น และส่งมอบเพชรเหล่านี้ให้แคโรไลน์เอมีเลีย-อลิซาเบท (ลูกสาวของชาร์ลวิลเลียม-แฟร์ดิน็องด์) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2348

ตำนาน : ผู้ครอบครองเพชรนี้ก่อนถึงมือของ ดาเนียล เอเลียสัน

แม้ ดาเนียล เอเลียสัน จะอ้างเป็นเจ้าของเพชรนี้ แต่วงการค้าเพชรอังกฤษตั้งข้อสังเกตว่า เขาอาจเป็นเพียงนายหน้าให้กับเจ้าของเพชรนี้ ข่าวลือผู้เป็นเจ้าของเพชรนี้ก่อนถึงมือของเขามีหลายกระแส
– กระแสที่ 1 : เฮนดริก ฟอลส์ (ลูกชายของ วิลเฮล์ม ฟอลส์) ประสบปัญหาหนี้สินอย่างหนัก วันหนึ่งเขาเห็น วิลเฮล์ม ฟอลส์ กำลังตัดเพชรนี้เป็น 2 ชิ้นจึงตัดสินใจขโมยเพชรเหล่านี้เพื่อนำไปชำระหนี้
เฮนดริก ฟอลส์ นำเพชรเหล่านี้ไปจำหน่ายให้กับ ฟรองซัว เลอโบลิเออร์ (ผู้ค้าเพชรฝรั่งเศส)
ต่อมา ฟรองซัว เลอโบลิเออร์ จำหน่ายเพชรชิ้นใหญ่ให้กับ ดาเนียล เอเลียสัน ส่วนเพชรชิ้นเล็กไม่พบข้อมูลว่า ฟรองซัว เลอโบลิเออร์ จำหน่ายให้กับผู้ใด
– กระแสที่ 2 : แคโรไลน์เอมีเลีย-อลิซาเบทประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนต้องนำเพชรชิ้นใหญ่ฝาก ดาเนียล เอเลียสัน ให้เป็นผู้จำหน่าย ส่วนเพชรชิ้นเล็กมอบให้กับชาร์ลที่ 2 ดยุคแห่งบรอนวิก (หลานป้าของแคโรไลน์เอมีเลีย-อลิซาเบท)

ตำนาน : เพชรนี้นำหายนะมาสู่ผู้เกี่ยวข้องกับการสูญหาย

หลายคนตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันกับการสูญหายของเพชรนี้ แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน บุคคลเหล่านี้อาจเป็นเพียงการผูกเรื่องเพื่อสร้างตำนานอาถรรพ์
– คาเด็ท กิโยท : ไม่พบข้อมูลของเขาหลังออกจากเรือนจำ
– ลันเคร-เดอลาลอยัลเล่ : ไม่พบข้อมูลของเขาหลังจำหน่ายเพชรนี้
– จอร์เจส-ฌาคส์แดนตัน : เขาดำรงตำแหน่งสมาชิกของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ และได้รับความนิยมจากชาวฝรั่งเศสอย่างมาก เนื่องจากเขาต่อต้าน มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ (ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ) ผู้ที่กวาดล้างผู้เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม
ต่อมาเขาถูกกล่าวหาใช้ตำแหน่งของเขาแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง
เขาถูกจับกุม และถูกไต่สวนในศาลทหารโดยไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงพยาน-หลักฐาน
เขาถูกพิพากษาให้มีความผิดฐานสมคบต่างชาติเพื่อก่อกบฎ-ทุจริตในหน้าที่ และถูกประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2337
– ชาร์ลวิลเลียม-แฟร์ดิน็องด์ : จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ส่งกองทัพโจมตีปรัสเซีย ปรัสเซียส่งเขานำกองทัพเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2349
เขาถูกสะเก็ดระเบิดจากปืนใหญ่ของกองทัพฝรั่งเศสจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เขาสูญเสียดวงตาทั้ง 2 ข้าง และเสียชีวิตที่เมืองออตเตเซน (ปัจจุบันอยู่ในเยอรมัน) ในอีกหลายวันต่อมา
– ครอบครัวฟอลส์ : หลังจากที่ เฮนดริก ฟอลส์ ขโมยเพชรเหล่านี้ไปจาก วิลเฮล์ม ฟอลส์ วิลเฮล์ม ฟอลส์ก็เสียใจจนล้มป่วย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่ เฮนดริก ฟอลส์ ฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาหนี้สินในปี พ.ศ. 2373
– แคโรไลน์เอมีเลีย-อลิซาเบท : แม้เธอจะสมรสกับเจ้าชายจอร์จ-ออกุสตัสเฟรเดอริก (รัชทายาทอังกฤษ) แต่พระองค์ไม่ชื่นชอนเธอ ชีวิตสมรสของเธอจึงไม่มีความสุข
เธอตัดสินใจย้ายออกจากอังกฤษ และซื้อบ้านอยู่แถบทะเลสาบโกโม (ปัจจุบันอยู่ในอิตาลี) ในปี พ.ศ. 2357 ต่อมาพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร (พ่อของเจ้าชายจอร์จ-ออกุสตัสเฟรเดอริก) สิ้นพระชนม์ เจ้าชายจอร์จ-ออกุสตัสเฟรเดอริกได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2363 เธอเดินทางกลับอังกฤษ และพยายามเรียกร้องสิทธิการเป็นพระราชินีของอังกฤษ แต่พระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรไม่ยินยอม หลายสัปดาห์ต่อมาเธอเสียชีวิตอย่างปริศนา หลายคนเชื่อว่า เธอถูกวางยาพิษ
– ฟรองซัว เลอโบลิเออร์ : หลังจากที่เขาจำหน่ายเพชรนี้เขาป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่จนเสียชีวิต

ขอบคุณที่มา : เอกชัย หงส์กังวาน