ตำนานเพชรโฮป (1)

เพชรโฮป (Hope Diamond) เป็นเพชรสีน้ำเงินเข้มขนาด 45.52 กะรัต เนื่องจากมีธาตุโบรอนปริมาณเล็กน้อยเจือปนอยู่ในโครงสร้างผลึก เพชรนี้มีชื่อเสียงระดับโลกจากความเชื่อเรื่องอาถรรพ์
ตำนานอาถรรพ์เพชรโฮปเกิดขึ้นหลังจากที่ฟรานซิสเพลแฮม-คลินตันโฮปจำหน่ายเพชรนี้ให้กับผู้อื่น เขากล่าวหาว่า เพชรนี้เป็นต้นเหตุแห่งความโชคร้ายของเขา

15056236_252806045134204_1262107178352261987_n

ด้วยเหตุนี้จึงมีตำนานต่างๆมากมายเกี่ยวกับเพชรนี้ ตำนานเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นหลังจากที่ฟรานซิสเพลแฮม-คลินตันโฮปจำหน่ายเพชรนี้แล้ว บางเรื่องเป็นเรื่องโกหก บางเรื่องเสริมแต่งจนเกินความจริง วันนี้ผมจะเขียนถึงตำนานเพชรโฮปที่น่าสนใจ

ตำนาน : เพชรนี้เคยประดับอยู่บนเทวรูปสีดา (พระชายาของพระราม) ในวัดแห่งหนึ่งใกล้แม่น้ำโคเลอรูน (ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย)

ช่วงปี พ.ศ. 2173-2211 ชองแบปตีส-ตาแวร์นีเย (ผู้ค้าเพชรฝรั่งเศส) เดินทางไปรับซื้อเพชร-อัญมณีในหลายพื้นที่ตั้งแต่เปอร์เซีย (ปัจจุบันอยู่ในอิหร่าน) จนถึงอินเดีย
สมุดบันทึกของชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยระบุว่า เขารับซื้อเพชรสีน้ำเงินขนาด 112.23 กะรัตมาจากเหมืองคอลเลอร์ในเมืองคุนตูร์ (รัฐอานธรประเทศ อินเดีย) ในปี พ.ศ. 2209
ในปี พ.ศ. 2211 ชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยเดินทางกลับฝรั่งเศส และจำหน่ายเพชรสีน้ำเงินร่วมกับเพชรขนาดอื่นที่ยังไม่ได้เจียระไนให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (กษัตริย์ฝรั่งเศส) ในราคา 220,000 ลีฟ (ประมาณ 52 ล้านบาท)
แม้มีเพียงสมุดบันทึกของชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยที่ระบุถึงที่มาของเพชรนี้ แต่เพชรนี้ยังไม่เคยถูกเจียระไนก่อนที่จะจำหน่ายให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่เพชรนี้เคยประดับอยู่บนเทวรูปใดมาก่อน

ตำนาน : ศพของชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยถูกสุนัขป่ากัดกิน

ชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยเป็นนักเดินทางที่ชอบการเดินทางเพื่อค้นหาความรู้ใหม่ และบันทึกเรื่องราวการเดินทางของเขาเสมอ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ตลอดชีวิตของเขาเดินทางเป็นระยะทางกว่า 60,000 ลีก (ประมาณ 192,000 กิโลเมตร)
ในปี พ.ศ. 2230 ชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยมีอายุ 82 ปี เขามีสุขภาพแข็งแรง และเป็นผู้ค้าเพชรที่มีชื่อเสียง จึงได้รับการต้อนรับอย่างดีจากกษัตริย์, ขุนนาง และนักธุรกิจในทุกที่ที่เขาเดินทางไปถึง
ชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยเดินทางจากกรุงปารีสไปสวิตเซอร์แลนด์, เบอร์ลิน (เยอรมัน), โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) จนถึงกรุงมอสโคว์
ในปี พ.ศ. 2232 ชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยเตรียมที่จะเดินทางต่อไปที่เปอร์เซีย หรืออินเดีย แต่เขาเสียชีวิตในที่พักแห่งหนึ่งที่กรุงมอสโคว์ขณะมีอายุ 84 ปี โดยมีหลายชายของเขาที่ติดตามเขาอยู่ข้างกาย สมุดบันทึกของเขากลายเป็นหนังสือล้ำค่าที่บันทึกเรื่องราวการเดินทาง-ความรู้เรื่องอัญมณีของเขา
ชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยไม่เคยประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง และเสียชีวิตหลังจากที่เขาขายเพชรนี้ให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสนานถึง 21 ปี การเสียชีวิตของเขาจึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับอาถรรพ์ของเพชรนี้

ตำนาน : เพชรนี้นำความหายนะมาสู่ นิโคลัส ฟูเก่ต์ (ขุนนางฝรั่งเศส)

ในปี พ.ศ. 2186 พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศสสิ้นพระชนม์ เจ้าชายหลุยส์ดิอูเมอร์ชี (พระโอรสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส) ได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ขณะมีอายุ 5 ปี
สมเด็จพระราชินีอานน์แห่งออสเตรีย (แม่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส) ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส โดยมีคณะรัฐมนตรีให้ความช่วยเหลือ
ฌูล มาซาแร็ง (นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส) เป็นขุนนางที่มีอิทธิพลมากที่สุดในราชสำนักฝรั่งเศส เขาวางตัว นิโคลัส ฟูเก่ต์ เป็นทายาทรุ่นต่อไปจากเขา ขณะที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสไม่ไว้วางใจทั้ง 2 คน
ในปี พ.ศ. 2204 ฌูล มาซาแร็ง เสียชีวิต ขณะที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสมีอายุ 23 ปี พระองค์จึงว่าราชการด้วยพระองค์เอง และสั่งปลด นิโคลัส ฟูเก่ต์ โดยไม่แต่งตั้งผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี
นิโคลัส ฟูเก่ต์ ถูกพิพากษาให้มีความผิดฐานคอรัปชั่น และถูกให้เนรเทศ แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสสั่งให้เปลี่ยนโทษเนรเทศเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต เขาถูกคุมขังในเรือนจำที่เมืองปิเนโรโล (ปัจจุบันอยู่ในอิตาลี) จนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2223
นิโคลัส ฟูเก่ต์ ถูกจำคุกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2204 ก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสจะรับซื้อเพชรนี้จากชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยถึง 7 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชะตากรรมของเขาเกี่ยวข้องกับอาถรรพ์ของเพชรนี้

ตำนาน : เพชรนี้นำความหายนะมาสู่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

ในปี พ.ศ. 2221 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสสั่งให้เจียระไนเพชรนี้ เพชรนี้ถูกเจียระไนเป็น 7 เลี่ยม (โดยมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม) เพื่อใช้เป็นเข็มกลัดประดับบนคราแวต (ผ้าพันคอ) ของพระองค์ เพชรนี้ถูกเจียระไนเหลือ 67.125 กะรัต และถูกขนานนามว่า “น้ำเงินแห่งฝรั่งเศส (Azure)”
ในปี พ.ศ. 2258 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสสิ้นพระชนม์ขณะมีอายุ 77 ปี พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป (72 ปี 110 วัน)
พระองค์สิ้นพระชนม์หลังจากรับซื้อเพชรนี้มาจากชองแบปตีส-ตาแวร์นีเยนานถึง 47 ปี การเสียชีวิตของพระองค์จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับอาถรรพ์ของเพชรนี้

ตำนาน : เพชรนี้นำความหายนะมาสู่มาดาม-เดอมงเตสปอง (พระสนมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส)

มาดาม-เดอมงเตสปอง (ภรรยาของมาร์ควิส-เดอมงเตสปอง) เป็นพระสนมลับที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสโปรดปรานมากที่สุด เธอได้ใกล้ชิดพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2209
ในปี พ.ศ. 2220 มาเดอลีน-เดอลาแกรนจ์ (นักไสยศาสตร์ฝรั่งเศส) ถูกจับกุมในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร-วางยาพิษสังหาร ณอน เฟรย์ (สามีของมาเดอลีน-เดอลาแกรนจ์) เพื่อหวังมรดก
มาเดอลีน-เดอลาแกรนจ์ร้องขอความช่วยเหลือจากมาร์ควิส-เดอลูวัวส์ (เลขาธิการแห่งกองทัพบก) เพื่อแลกกับการเปิดเผยข้อมูลการลอบสังหารบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับวงการไสยศาสตร์
มาร์ควิส-เดอลูวัวส์แจ้งข่าวนี้ต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส พระองค์จึงสั่งให้มีการสอบสวนเพื่อขยายผล ส่งผลให้มีการจับกุมนักไสยศาสตร์หลายคนในระหว่างปี พ.ศ. 2220-2225
ในปี พ.ศ. 2222 ลา วอยซิน (นักไสยศาสตร์ฝรั่งเศส) ถูกจับกุมฐานจำหน่ายยาพิษ-ทำพิธีไสยศาสตร์นอกรีต เธอให้การซักทอดบุคคลอื่นหลายคนรวมทั้งมาดาม-เดอมงเตสปอง
ลา วอยซิน ให้การว่า มาดาม-เดอมงเตสปองเคยยาเสน่ห์จากเธอเพื่อทำเสน่ห์ให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส โดยมี เตเตียน กุยเบอร์ก (บาทหลวงฝรั่งเศส) เป็นผู้ประกอบพิธี
ด้วยเหตุนี้มาดาม-เดอมงเตสปองจึงถูกปลด และถูกคุมขังอยู่ในห้องนอนของเธอ เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ข่าวนี้สร้างความเสื่อมเสียแก่ราชวงศ์ฝรั่งเศส
ในปี พ.ศ. 2234 มาดาม-เดอมงเตสปองถูกส่งตัวไปที่โบสถ์แม่พระแห่งเซนต์โจเซฟ (Filles de Saint-Joseph: ปัจจุบันอยู่ในกรุงปารีส) จนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2250
เข็มกลัดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสสร้างเสร็จก่อนที่มาดาม-เดอมงเตสปองถูกปลดเพียง 1 ปี อีกทั้งเข็มกลัดนี้ถูกออกแบบสำหรับผู้ชาย จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่มาดาม-เดอมงเตสปองเคยสวมใส่เข็มกลัดนี้

ขอบคุณที่มา : เอกชัย หงส์กังวาน