เขื่อนภูมิพลและสายไฟฟ้าแรงสูง เมกกะโปรเจ็คของรัฐบาลทหารเลือกตั้ง ที่ถูกใช้ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อปูทางสู่การรัฐประหารของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ 16 กันยายน 2500
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พรรคเสรีมนังคศิลา ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้ายันฮี โดยเข้าที่ประชุมสภาในวันที่ 29 สิงหาคม 2500 ก่อนหน้าการรัฐประหารของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์อยู่ราวครึ่งเดือน

สาระของร่าง พรบ. นี้คือ เสนอการสร้างเขื่อนภูมิพล เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และจะได้ประโยชน์ด้านการชลประทานและป้องกันน้ำท่วม ทั้งเป็นโครงการต่อเนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทที่เปิดใช้เขื่อนในปี 2500 นี้
โครงการเมกกะโปรเจ็ค ต้องใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท (ในปี 2500 นั้น งบประมาณรายจ่ายสามัญประจำปีมี 5,069.99 ล้านบาท) โดยกู้จากธนาคารโลก 1,300 ล้านบาท และจากเงินทุนในประเทศ 700 ล้านบาทในอีก 6 ปี
เมื่อสร้างเสร็จจะกักน้ำได้ 12,200 ล้าน ลบ.ม. มีเครื่องผลิตไฟฟ้า 8 เครื่อง ผลิตไฟฟ้าได้ 560,000 กิโลวัตต์ จะมี 36 จังหวัดในภาคเหนือและภาคกลางได้ใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ ทั้งนี้ ประเมินว่า กรุงเทพฯและจังหวัดโดยรอบต้องการไฟฟ้าราว 130,000 กิโลวัตต์
ในการอภิปรายของ ส.ส. ฝ่ายค้าน นายน้อย ทินราช ส.ส. นครราชสีมา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนแรกที่อภิปราย และกล่าวถึงการคัดค้านได้อย่างชัดเจนที่สุด ว่า
“เขื่อนยันฮีจะก่อหนี้สิน จะก่อความผูกพันให้แก่ประชาชนไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท… บ้านเมืองกำลังอดอยาก ข้าวกำลังยาก หมากกำลังแพง รัฐบาลควรเลิกเสียเรื่องสร้างเขื่อนยันฮีนี้เอง เอาเงินไปช่วยปากช่วยท้อง ช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี... ส่วนราษฎรแม้ว่าจะไม่มีไฟฟ้าไปถึง เขาก็มีต้นยาง ที่จะไปหาน้ำมันยางไป(จุดไฟสว่าง) ใช้ได้อยู่แล้ว… (เขื่อนยันฮี)… ไม่จำเป็น… (ทั้ง) ยังจะเป็นเหตุที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของผานดินเรา…”
นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ ส.ส. เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคสหภูมิ พรรคการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นกำลังอำนาจของกลุ่มตนในสภา และเป็นฝ่ายค้าน ได้คัดค้านด้านรายละเอียดเทคนิค และความไม่เชื่อในการบริหารของฝ่ายรัฐบาล จบการอภิปรายด้วยประโยคที่ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีสมาชิกสภาฯที่เคารพตนเองคนไหนเลยจะสนับสนุนกับโครงการนี้เป็นแน่”
บุคคลที่กล่าวคัดค้านที่สำคัญที่สุดคือ นายควง อภัยวงศ์ ส.ส. พระนคร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดังข้อความที่อยู่ในภาพ
การคัดค้านการสร้างเขื่อนยันฮีในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ในห้วงวิกฤตที่ทหารกลุ่มสี่เสาเทเวศร์กำลังกดดันโดยการเสนอให้จอมพล ป. ลาออก รวมทั้งพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ผู้มีบทบาทสำคัญของฝ่ายรัฐบาล
แม้ว่า ร่าง พรบ. นี้ จะลงมติผ่านวาระที่ 1 ไปได้ ด้วยคะแนนผ่าน 132 ไม่รับร่าง 70 แต่เขื่อนยันฮีก็ถูกนำไปพูดอย่างต่อเนื่องว่าในด้านลบว่า รัฐบาลรีบร้อน ไม่รัดกุม มีนอกมีใน และเป็นโครงการสร้างเขื่อนที่ไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม
นอกจากนี้ หลังจาก พรบ.เขื่อนยันฮี ผ่านไปแล้ว ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้ ฝ่ายค้านก็ต่อเนื่องด้วยวาระอภิปรายทั่วไปต่อรัฐบาลใน 9 ข้อ อีก 2 วันต่อเนื่อง ข้อแรกสุดคือการยกเรื่องมีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์มาโจมตีรัฐบาลจอมพล ป.
นี้คือกระบวนการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีผลในด้านเกื้อหนุนการรัฐประหารของคระทหารกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา
อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหาร รัฐบาลของกลุ่มทหารสี่เสาเทเวศร์ ยังคงดำเนินโครงการเมกกะโปรดเจ็คนี้อย่างต่อเนื่อง จนเปิดใช้ในปี 2507 ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ส่วนผู้ที่คัดค้านอย่างแข็งขันมาก่อนหน้านี้ ก็นั่งนิ่งๆ และชื่นชมกับเขื่อนยันฮีที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
อ้างอิง :
ร่าง พรบ. การไฟฟ้ายันฮี พ.ศ.2500, รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10/2500 (สามัญ) ชุดที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2500 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 906-989.
เฉลิม มลิลา, “รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ในประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ ประวัติศาสตร์ อักษรศาสตรมหาบัณทิต จุฬาฯ 2518, หน้า 114-115.
ขอบคุณที่มา : ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
Like this:
Like Loading...