‘เดชา ศิริภัทร’ : กระดูกสันหลังของชาติถูกมอมเมาด้วยปุ๋ยเคมีและประชานิยมเกษตร

เกษตรอินทรีย์กับการ “ปรับสมดุลธรรมชาติ”

“เป้าหมายหลักของเกษตรอินทรีย์ไมใช่แค่การปลูกพืชปลอดสารพิษ คุณภาพดี ขายได้ราคาแพง  อินทรีย์แปลว่ามีชีวิต เกษตรอินทรีย์คือการใช้สิ่งมีชีวิตเป็นตัวตั้ง เช่น ปุ๋ย ก็ต้องปุ๋ยอินทรีย์ ทุกอย่างต้องมาจากธรรมชาติ  เราเคารพธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติอย่างสอดคล้อง โดยไม่เอาเปรียบ ไม่ทำลาย” ‘เดชา ศิริภัทร’ หรือ ‘อาจารย์เดชา’ ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรี เริ่มการสนทนาด้วยการอธิบายว่าหลักสำคัญที่แท้จริงของเกษตรอินทรีย์คืออะไร

3

อย่างไรก็ดียังมีเกษตรอินทรีย์ที่ ‘เพี้ยน’ จากหลักการ เช่น การใช้สมุนไพรฉีดฆ่าแมลงทุกตัวทั้งแมลงดีและแมลงไม่ดี(ศัตรูพืช) แม้จะเป็นสารธรรมชาติแต่ก็อยู่ร่วมกับธรรมชาติไม่ได้เพราะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล เช่น ฉีดสมุนไพรบางอย่างอาจไปฆ่าแมงมุมซึ่งเป็นแมลงดีที่ช่วยกินเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เกษตรกรอินทรีย์จริงๆจะต้องเป็นเพียงผู้ช่วยหรือนักจัดการระบบธรรมชาติให้สมดุล

2

“เช่น หอยเชอร์รี่ศัตรูต้นข้าว ชาวนาทั่วไปก็เอายาเคมีไปฆ่ามัน แต่ศึกษาให้ดีจะรู้ว่าหอยพวกนี้มีศัตรูคือเป็ด  แค่เลี้ยงเป็ดมาปล่อยในนาข้าว มันก็จะกินหอยเชอร์รี่โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร หรือถ้าจะใช้สมุนไพรกำจัดแมลงก็ต้องใช้ที่เป็นตัวคุมจำนวนไม่ใช่ตัวฆ่า  เช่น ใช้สารสะเดาฉีดไปที่พืชถึงจะโดนแมลงก็ไม่ตายเพราะไม่ใช่สารฆ่าแมลง แต่สะเดาจะถูกดูดซึมไปในต้นพืช เมื่อแมลงศัตรูพืชกินพืชต้นนั้น ก็จะได้รับสารสะเดาที่ทำหน้าที่คล้ายๆกับฮอร์โมนควบคุมการลอกคราบเข้าไป พอมันลอกคราบไม่ได้ มันก็ตายและลดจำนวนลง”

อ.เดชา บอกว่าการฆ่าต้องเป็นการฆ่าเพื่อความสมดุลและการดำรงอยู่ของอีกสิ่งตามธรรมชาติ ไม่ใช่ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดฆ่าหมดทั้งแมลงดีและร้ายอย่างระบบเคมี ซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวนาได้รับสารพิษ ผลผลิตไม่ปลอดภัยอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว ยังถือเป็นการแทรกแซงธรรมชาติที่ร้ายแรงด้วย

“พันธุ์ข้าวเคมี” รูปธรรมความไม่จริงใจส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

การทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการปลูกข้าวจะอาศัยเพียงการไม่ใช่ปุ๋ยเคมีไม่ได้ เนื่องจากพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันเป็นพันธุ์ข้าวของรัฐบาลโดยกรมการข้าวและบริษัทเอกชน ซึ่งพัฒนาพันธุ์จากระบบการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้นพันธุ์ข้าวเช่นนี้จะไม่เข้ากับระบบเกษตรอินทรีย์คือไม่งอกงาม ให้ผลผลิตต่ำและเป็นโรค

การพัฒนาและผสมพันธุ์ข้าวของรัฐและเอกชนเป็นการส่งเสริมการใช้เคมี เพราะเชื่อว่าการจะได้ผลผลิตสูงๆต้องไปแทรกแซงธรรมชาติเพราะเอกชนต้องการกำไร ขณะที่กรมการข้าวก็ไม่อยากให้ชาวบ้านทำพันธุ์เอง เพราะกลัวไม่มีมาตรฐานและจะจัดการลำบาก ความคิดเราไม่เหมือนกัน ฉะนั้นที่ผ่านมาเขาจึงปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เติบโตได้ดีเฉพาะเมื่อใช้คู่กับยาฆ่าแมลง  เช่น เอาพันธุ์ ก กับ ข ผสมกัน กว่าจะได้ลูกที่ออกมาเป็นพันธุ์แท้ไม่กลายพันธุ์ ต้องปลูกประมาณ 8 ฤดูกาล  ถ้าเขาต้องการให้ได้พันธุ์ข้าวที่เหมาะกับปุ๋ยเคมี เขาก็เอาปุ๋ยเคมีใส่ไปตั้งแต่การปลูกในฤดูแรก ต้นไหนพอใส่ปุ๋ยเคมีแล้วไม่ได้ผลผลิตหรือเป็นโรคก็คัดออก เหลือไว้แต่ต้นที่เข้ากับยาเคมี คือ งอกงาม เมล็ดสวย ก็คัดไว้ปลูกต่อฤดูต่อไป ทำอย่างนี้ไล่ไปจนครบ 8 ฤดู สุดท้ายก็เหลือแต่ต้นที่ชอบปุ๋ยเคมีหมด ได้พันธุ์ที่เสถียร แล้วเอาไปแจกจ่ายให้ชาวนา”

ในทางกลับกันหากต้องการผสมพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับหลักเกษตรอินทรีย์ ก็ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้ต้นข้าวในทุกฤดูกาลการผสมแทน จนสุดท้ายเหลือแต่ต้นที่งอกงามดีกับการใช้สารอินทรีย์เช่นกัน

อ.เดชากล่าวว่า การพัฒนาพันธุ์ข้าวด้วยวิธีเคมีของรัฐและเอกชนดังที่กล่าวมาเป็นอุปสรรคสำคัญขัดขวางแนวทางเกษตรอินทรีย์ซึ่งบรรจุเป็นวาระชาติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวทางเกษตรอินทรีย์ไม่เคยได้รับการส่งเสริมอย่างจริงดังที่ประกาศไว้ เพราะแม้แต่พันธุ์ข้าวที่รัฐผลิตให้ชาวนาใช้ก็ยังเป็นพันธุ์ข้าวเคมี

อย่างไรก็ดีสำหรับเกษตรกรที่อยากปลูกข้าวอินทรีย์แต่ไม่มีพันธุ์และผสมเองไม่ได้ อ.เดชา แนะวิธีง่ายๆโดยการนำพันธุ์ข้าวเคมีมา “ดัดนิสัย” ดังนี้ นำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวกล้องแล้วคัดให้เหลือแต่เมล็ดที่สมบูรณ์ที่สุดไปเพาะเป็นต้นกล้าปลูกไว้สัก 100 ต้น โดยไม่ใส่ปุ๋ยเคมีแต่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้แทนแล้วเลือกต้นที่ให้ผลผลิตดี ไม่มีโรคไว้ 5 ต้น แล้วเอาข้าวเปลือกที่ได้จาก 5 ต้นนี้ไปสีเป็นข้าวกล้องใหม่ ทำซ้ำกระบวนการเดิมสัก 3 ฤดู ก็จะได้เมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับการปลูกแบบอินทรีย์ โดยแถมท้ายว่าทางที่ดีชาวนาจะต้องทดลองปลูกในผืนดินของตนเอง เพื่อให้การดัดนิสัยพันธุ์เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่นั้นๆได้จริง

‘ชัยพร พรหมพันธุ์’ เกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา ปี 2538 ลูกศิษย์มูลนิธิข้าวขวัญ คือ ตัวอย่างชาวนาที่ประสบความสำเร็จจากการทำนาปลอดสารพิษ อ.เดชาเล่าว่า แม้คุณชัยพรไม่ได้ทำนาอินทรีย์เต็มรูปแบบ เพราะยังใช้ยาคุมหญ้าในการทำนาหว่านที่วัชพืชมักจะขึ้นเบียดต้นกล้าจำนวนมาก แต่สารที่ใช้ก็สลายไปใน 7 วันจนไม่เหลือตกค้าง  โดยกระบวนการทำนาที่เหลือก็ยังไม่ใช้สารเคมีตามวิถีเกษตรอินทรีย์

“เดิมคุณชัยพร มีที่นา 25 ไร่ พอหันมาทำนาอินทรีย์ แกซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก 90 ไร่ เป็น 115 ไร่  และได้กำไรเกินล้านทุกปี แม้ว่าข้าวจะราคาตกเหลือตันละ 4,000  ก็ยังได้กำไร เพราะต้นทุนต่ำเพียงตันละ 3,000 บาท ไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมีมาฉีด ผลผลิตที่ได้ยังเท่าหรือมากกว่าการปลูกข้าวเคมี ขณะที่ชาวนารอบๆมีแต่ขายนาไม่ได้ซื้อนา เพราะใช้ปุ๋ย ใช้ยาเคมีมาก ต้นทุนเลยสูงตันละ 6,000 – 7,000 สุขภาพก็ไม่ดี “

อย่างไรก็ดีแม้ชาวนาจะเข้ามาอบรมการทำเกษตรอินทรีย์จากอ.เดชามากมายและ ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จจากคุณชัยพร แต่ประธานมูลนิธิข้าวขวัญกลับบอกว่ากว่า 20 ปีที่ส่งเสริมเรื่องนี้มา แม้แต่ชาวนาข้างบ้านก็ยังไม่ทำ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า “ทำใจไม่ได้ที่ต้องเลิกใช้ปุ๋ยใช้ยา ให้เปลี่ยนศาสนายังง่ายกว่าเลย”

4

ประชานิยมรัฐบาลสวนทางวาระชาติเกษตรอินทรีย์–ส่งเสริมเคมีช่วยเอกชน

อ.เดชา มองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวนาไม่สามารถหลุดพ้นวังวนการใช้สารเคมีเร่งปลูกข้าว เพราะถูกมอมเมาจากการโฆษณาปุ๋ยที่แพร่หลาย รัฐไม่ห้ามโฆษณาเหมือนประเทศอื่น นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการที่รัฐบาลไม่เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมีตั้งแต่ปี 34  ซึ่งร้อยละ 90 ของปุ๋ยเคมีที่ใช้ในไทยนำเข้าจากต่างประเทศ โดยพบว่าไทยเป็นประเทศที่ใช้ปุ๋ยเคมีมากเป็นอันดับ 5 ในโลก ขณะที่มีพื้นที่ประเทศใหญ่เพียงอันดับที่ 48 ของโลก  โดยคิดเป็นสัดส่วนการใช้ปุ๋ยและยาเคมีมากกว่าประเทศอื่นโดยเฉลี่ยเกือบ 10 เท่า

“ตั้งแต่ประกาศเป็นวาระชาติมา 15 ปี ก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนสนใจขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จริงจัง  ปี 2547 รัฐบาลทักษิณ เคยระบุว่าจะขับเคลื่อนแนวทางเกษตรอินทรีย์ โดยภายใน 4 ปีจะทำให้มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2 ล้านไร่ และจะลดการนำเข้าสารเคมีเกษตรให้ได้ร้อยละ 50 แต่ ในปี 2551 พื้นที่เกษตรอินทรีย์กลับมีไม่ถึง 1 แสนไร่ จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่ถึง 2 แสนไร่ มิหนำซ้ำการนำเข้าปุ๋ยยังเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนถึง 100 เปอร์เซ็นต์”

ที่ผ่านมาได้มีความพยายามผลักดันให้เก็บภาษีนำเข้าปุ๋ยเคมี นำเงินที่ได้ไปตั้งกองทุนส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งห้ามโฆษณาขายปุ๋ย ในยุครัฐบาลทักษิณ(ปี 2543) และรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ก็ไม่ประสบผล แม้จะมีการทำประชาพิจารณ์ผ่านทั้ง 2 ครั้งแล้ว เรื่องดังกล่าวก็ไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  เพราะมีการเอื้อประโยชน์ระหว่างบริษัทปุ๋ยและฝ่ายการเมือง

“ถามว่ารัฐบาลมีมาตรการอะไรในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์  เก็บภาษีปุ๋ยไหม ก็ไม่เก็บ จำกัดปริมาณนำเข้าไหม ก็ไม่จำกัดห้ามโฆษณาไหม ก็ไม่ห้าม มีกองทุนที่จะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ไหม ก็ไม่มี แล้วจะมาพูดว่าส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร เกษตรกรจึงถูกมอมเมา และจนลงๆ”

โครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลปัจจุบันที่นอกจากผลประโยชน์จะไม่ตกถึงมือชาวนาส่วนใหญ่ที่ยากจนเพราะไม่มีข้าวเหลือไว้ขายมากเท่าชาวนาที่ร่ำรวยแล้ว ยังทำลายระบบเกษตรอินทรีย์ด้วยการตั้งราคาข้าวหอมมะลิเคมีให้สูงกว่าข้าวอินทรีย์ที่ตันละ 20,000 ขณะที่ข้าวอินทรีย์ขายได้ตันละ 17,000 บาท จึงไม่จูงใจให้ทำนาอินทรีย์เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องลงแรง(ด้วยวิธีปักดำ)มากกว่า 

“มีสักคำไหมที่บอกว่าถ้าปลูกข้าวอินทรีย์จะให้ราคาแพงกว่าข้าวเคมี รัฐบาลใช้เงินเป็นแสนล้านแต่ไม่มีสักคำเดียวที่จะพูดถึงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ประธานมูลนิธิขวัญข้าวบอกว่านั่นยิ่งทำให้ชาวนาเร่งใช้ปุ๋ยใช้ยาเคมี เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นๆ

“สุดท้ายชาวนาต้องไปหวังพึ่งรัฐบาลให้ช่วยรับซื้อราคาแพงๆ  เพราะตัวเองลดต้นทุนปุ๋ยไม่ได้อยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยก็ต้องขาดทุน แต่ถามว่ารัฐบาลจะกู้เงินเป็นแสนล้านมาช่วยได้กี่ฤดู ยิ่งไปกว่านั้นพอเปิดเสรีอาเซียนข้าวทุกสารทิศจะเข้ามาแบบเสรี รัฐบาลจะรับภาระไหวไหม เรามีอะไรไปแข่งขันกับเขา ข้าวเวียดนามต้นทุนตันละ 4,000 บาท ไทยเรา 7,000 บาท เพราะเขาไม่ได้ใช้ปุ๋ยบ้าเลือดแบบเรา ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมให้แข่งขันได้จริงก็ต้องให้ทำแบบคุณชัยพรนี่ถึงจะสู้เขาได้”

สุดท้ายเมื่อถามถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำ ครูชาวนาตอบว่า “ไม่ต้องทำอะไรเลย ขอแค่อยู่เฉยๆและเลิกมอมเมาชาวนาด้วยปุ๋ยด้วยยาเคมีก็พอ  เพราะเมื่อเลิกใช้เคมี ต้นทุนจะต่ำ ผลผลิตก็ดี สามารถแข่งขันกับใครที่ไหนก็ได้ในโลก แต่เชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนๆก็ควบคุมการใช้และโฆษณาปุ๋ยเคมีได้ยาก เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากบริษัทปุ๋ยแล้ว การทำให้ชาวนาพึ่งตนเองและพึ่งธรรมชาติไม่ได้ ประชานิยมมากมายที่คิดออกมาเพื่อสร้างฐานคะแนนนิยมก็จะยิ่งได้ผล

“ถ้าชาวนาทำเกษตรอินทรีย์แล้วรวย ช่วยตัวเองได้ รัฐบาลจะเอาประชานิยมที่ไหนมาล่อใจให้เลือก”

………………

แม้ว่าหนทางส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยภาครัฐจะไม่เคยสว่างไสวดังที่ประกาศไว้ใหญ่โตในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ ‘เดชา ศิริภัทร’ มองว่าชาวนาสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตนด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายๆ แค่เพียงเปลี่ยนความคิดหันมาพึ่งพาตนอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน

ที่มาภาพ ::
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=moonwatcher&date=15-09-2011&group=35&gblog=2
http://www.rd1677.com/rd_sarabury/top_sarabury.php?id=77499

ขอบคุณ : สำนักข่าวอิสรา