วันนี้มีอาการเกี่ยวกับลมเลยได้ถึงคราวหยิบจับยาหอมมาทาน เลยทำให้นึกสนใจลองหาข้อมูลเรื่องยาหอมมาเก็บรวบรวมไว้ ขอรวบรวมไว้ ณ เท่าที่หาได้ในขณะนี้ค่ะ เครดิตของแต่ละแหล่งข้อมูลอยู่ท้ายของแต่ละบทความเลยค่ะ

women.thaiza.com
ยาหอมไทยแต่ดั้งเดิมมา
ยา–หอม แสดงว่ายานั้นต้องหอม โบราณตรงไปตรงมาแบบนี้เสมอ แล้วยานั้นหอมได้อย่างไร หอมแบบไหน
ทำอย่างไร และใช้อย่างไร
ตำรับยาต้องประกอบด้วยสมุนไพรสองชนิดขึ้นไปเสมอ ยาหอมจึงเป็นยาไทยที่ปรุงจากของหอมหลากหลาย ชนิดมาจากพืชบ้างสัตว์บ้างและแร่ธาตุต่างๆบ้าง มาทั้งจากต่างประเทศ เรียกเครื่องหอมเทศ และมาจากถิ่นที่ของตนในที่นี้ขอเรียก เครื่องหอมไทย นำมาผสมผสานกัน ได้เครื่องหอมเป็นยา ซึ่งความหอมที่ได้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของสรรพคุณรักษาด้วย หมอไทยจึงทำยานั้นให้หอม เป็นการรักษาทางกลิ่นสัมผัส ในแผนไทยเรากำหนดสรรพคุณของสมุนไพรด้วยรสของสมุนไพรนั้น โดยแบ่งเป็น ๙ รส จะขอกล่าวเพียง ๒ รส คือ รสหอมร้อน และ รสหอมเย็น
เมื่อนำมาทำเป็นยาหอมจะได้ยาหอม ๒ รส คือ ยาหอม ออกทางร้อน และยาหอมที่ไม่ร้อนไม่เย็น เรียก ยาหอม ออกทางสุขุม ใช้รักษาอาการทางลมที่แตกต่างกันเป็น ๒ กอง คือกองลมในไส้,นอกไส้ ใช้ยาหอม ออกทางร้อน และกองลมตีขึ้นเบื้องบน ใช้ยาหอม ออกทางสุขุม แต่ถ้าจะกล่าวโดยละเอียด ยาหอมสุขุม ยังแบ่งออกเป็น ยาหอมสุขุมร้อน และยาหอมสุขุมเย็นอีก ที่หมอไทยแบ่งออกโดยละเอียดด้วยเหตุที่ลมร้อนนั้นร้อนต่างกัน ลมจึงไปก่ออาการได้หลายตำแหน่งในร่างกาย ตามธรรมชาติของความร้อนไอร้อนที่ลอยขึ้นบนเสมอ
ยาหอม รสร้อน ทำจากสมุนไพรรสหอมร้อนเป็นหลักเพื่อเข้าไปสร้างลมเพื่อผลักลมในช่องท้องให้ออกมา อาการท้องอืดเฟ้อเรอ จุกเสียดแน่นในท้องจะลดลง ส่วนใหญ่ที่วางขายในท้องตลาดจะเป็นยาหอมรสนี้เป็นส่วนมาก
ยาหอม รสสุขุมร้อน ทำจากสมุนไพรรสหอมร้อนมากกว่ารสหอมเย็น โดยสมุนไพรรสหอมเย็นต้องผ่านกรรมวิธีอบกระแจะหอมเสียก่อน แล้วนำมาผสมเข้ากัน ปรุงด้วยเครื่องหอมอีกครั้ง ไม่ใช่แค่นำมาบดแล้วผสม ใช้แก้กองลมที่ตีเข้าอกเรียก “ลมแน่นเข้าอก” ทำให้แน่นเสียดในอก ขึ้นถึงคอเรียก“ลมจุกคอ” กลืนไม่เข้า คายไม่ออก
ยาหอม รสสุขุมเย็น ทำโดยนำกระแจะหอมมาผสมกับน้ำกระสายยาที่มีรสหอมเย็นเพื่อให้หอมเย็นมากยิ่งขึ้นถึงจะนำไปผสมกับสมุนไพรรสหอมร้อน ใช้แก้กองลมร้อนตีขึ้นเบื้องสูง มึนหัว เวียนหัว หน้ามืดตาลาย คล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ผะผืดผะอม ทรงตัวไม่อยู่โคลงเคลงไปมา ปวดลมปะกัง(ไมเกรนชนิดหนึ่ง) ลมปะกังออกตา(ปวดเบ้าตา ตาร้อนผ่าว ตาแดง ตาแห้ง ความดันออกตา)
ยาหอมรสร้อนทำเพียงบดผสมเข้ากัน แล้วปรุงพิมเสนเพิ่มเท่านั้น แต่ยาหอมสุขุมร้อน และเย็นต้องผ่านวิธีทำกระแจะหอมเสียก่อน ถึงจะนำไปผสมกับเครื่องหอมอีกขนานอันประกอบไปด้วย ชมดเช็ด/ชมดเชียง/อำพันทอง/อำพันขี้ปลา/พิมเสนในปล้องไม้ไผ่/หญ้าฝรั่น เป็นต้น ยาหอมรสร้อนจึงใช้เพียงแก้ลมท้องอืด ควรใช้ยาหอมแก้ให้ถูกกับกองลมที่เกิดอาการจึงได้ผลดีกว่า
ขอแยกอาการตามกองลมที่เกิด และการใช้ยาหอมตามรสของยาดังนี้
๑. กองลมในไส้–นอกไส้ ท้องอืดเฟ้อเรอแน่นจุกเสียดในท้อง ยาหอมรสร้อน
๒. กองลมตีขึ้นบนแค่อกคอ แน่นหน้าอก จุกคอกลืนไม่เข้าไม่ออก ยาหอมสุขุมร้อน
๓. กองลมตีขึ้นถึงศีรษะ เวียน/มึน/หนักๆในหัว,ปวดหัว,เป็นลม ยาหอมสุขุมเย็น
ยาหอมเป็นยาสามัญประจำบ้านมาแต่โบราณ ใช้บรรเทามิได้รักษา และเมื่อบรรเทาแล้วต้องพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป ขอยกตัวอย่างยาหอมในบัญชียาหลักแห่งชาติและวิธีการวางยาให้ถูกต้องดังนี้
ยาหอมรสร้อน–สุขุม (ยาหอมนวโกฏ)
สรรพคุณ แก้ลมอันเกิดแต่กำเดา(ไอแห่งความร้อน) ที่ทำให้ท้องเต็มไปด้วยลม อืด/เฟ้อ/เรอบ่อย ลดอาการผะอืดผะอม เพิ่มลมเบ่งอุจจาระสำหรับอาการท้องผูกจากลมเบ่งหย่อน
ยาหอมรสสุขุม–ร้อน (ยาหอมทิพโอสถ)
สรรพคุณ แก้กองลมแน่นเข้าอก จุกเสียดในอก แก้กองลมจุกเข้าคอ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ยาหอมรสสุขุม–เย็น (ยาหอมเทพจิตร)
สรรพคุณ แก้กองลมเสียดราวข้าง แก้กองลมที่ตีขึ้นเบื้องบนทำให้ หน้ามืดตาลาย วิงเวียน ตามัวตาพร่าตาฝ้า ลมออกตา ลมปะกัง หนักๆมึนๆในศีรษะ
ใช้ยาหอม ภูมิปัญญาแห่งบรรพชนสยามให้ถูกต้องไม่ใช่เป็นลมหน้ามืดแต่ไปใช้ยาหอมรสร้อน สุขุมร้อนหรือท้องอืดเฟ้อ แต่ไปใช้ยาหอมสุขุม แล้วบอกว่าไม่ดีไม่เห็นหาย ก็ใช้ผิดจะไปหายได้อย่างไร แต่เมื่อรู้แล้วใช้ให้ถูกต้องแล้วบอกผู้อื่นเป็นความรู้ต่อไป มีข้อเพิ่มเติมอีกนิดว่า ถ้ามีอาการลมขึ้นบนบ่อยๆให้ทานยาเขียว/ยาขมร่วมด้วยจะทุเลาหายเร็วขึ้น เพราะยาเขียว/ยาขมเป็นยาเย็น ผ่อนร้อนภายใน ไฟหายลมสงบ แต่หากจะรักษากองลมไม่ให้มากไป–น้อยไป โบราณใช้น้ำกระสายยาช่วยลดบรรเทาดังนี้
น้ำกระสายยาลดความร้อนภายใน (เย็น)
ส่วนประกอบ :
ดอกไม้หอม(แล้วแต่หาได้)เช่น มะลิ,กระดังงา,กุหลาบ เป็นต้น คำฝอย,คำแสด,คำไทยมีขายในรูปแบบชาชง ชาเขียว,ใบบัวบก ผลไม้เย็นเช่น สตอเบอรี่,มังคุด,เงาะ เป็นต้น
วิธีทำ :
นำทั้งหมดลงต้ม ยกเว้นดอกไม้ใส่ภายหลัง แล้วกรองปล่อยให้เย็น เติมน้ำเตยคั้น ปรุงรสเปรี้ยวหวาน
วิธีใช้ :
กินอุณหภูมิปกติ ดื่มแทนน้ำได้ ช่วยผ่อนร้อนให้เย็นแบบสุขุมนุ่มนวล
น้ำกระสายยาลดลมภายใน(ร้อน)
ส่วนประกอบ :
ขิง/ใบสะระแหน่/ตะไคร้แกง/ลำไยแห้ง/
วิธีทำ :
นำทั้งหมดลงต้ม แล้วกรอง ปรุงรสหวานนิดเปรี้ยวหน่อยพออร่อย
วิธีใช้ :
กินอุณหภูมิปกติ ดื่มแทนน้ำ หลังอาหารยิ่งดี ช่วยย่อยขับลม ลดอืดเฟ้อแต่ไม่เรอลมมากินอาหารรสร้อนพร้อมน้ำกระสายยาร้อนต่างน้ำ ร้อนมากินอาหารรสเย็นพร้อมน้ำกระสายยารสเย็นต่างน้ำ โบราณใช้รักษาลมไม่ให้เป็นลม ไม่เกิดลมสวิงสวายทำให้กระสับกระส่าย นี่แหละภูมิปัญญาจากคนโบราณสำหรับคนเดี๋ยวนี้ ทำเองทำได้ไม่ป่วย
ที่มา : คมสัน ทินกร ณ อยุธยา (แพทย์แผนไทย)
http://thai-hhc.blogspot.com/2013/07/blog-post_9120.html

http://www.thaihealth.or.th/
เมื่อพูดถึงยาหอม คงไม่มีคนไทยคนใดไม่รู้จัก แต่ที่น่าเสียดายคือ คนส่วนใหญ่แม้รู้จักก็จริง แต่รู้จักเพียงแต่ชื่อ สำหรับคนที่รู้จักก็เข้าใจเพียงแต่ว่า ยาหอมเป็นยาคนแก่ ใช้แก้ลมวิงเวียนเท่านั้น ผู้ที่ศึกษาองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยทราบดีว่ายาหอมในคัมภีร์แพทย์แผนไทยมีจำนวนมากมายกว่า 300 ตำรับ ใช้ในโรคต่างๆ มากมาย และในการรักษาโรคของแพทย์แผนไทยสมัยโบราณนั้นจะมียาหอม พกติดตัวไว้ในล่วมยาสำหรับรักษาโรคยามฉุกเฉิน แล้วค่อยจ่ายยาต้มตามมาภายหลัง ถือได้ว่ายาหอมเป็นยาสำคัญทีเดียวในการแพทย์แผนไทย ความสำคัญของยาหอมนี้ค่อยเลือนหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากการใช้ส่วนใหญ่คงอยู่เฉพาะในกลุ่มแพทย์แผนไทย ซึ่งมีคนไข้มารับการรักษาน้อย และคนไข้ที่เป็นโรคง่ายๆที่รักษาตนเองได้ก็เลือกใช้แต่ยาแผนปัจจุบันที่หาซื้อง่าย ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในการเลือกใช้ยาไทยด้วยตนเองเหมือนคนสมัยก่อน คนที่มีความรู้บ้างก็หาซื้อยาได้ยาก เนื่องจากมีบริษัทที่ผลิตยาไทยเหลืออยู่ไม่กี่บริษัท การวางขายก็ไม่ค่อยทั่วถึง ด้วยยอดขายที่น้อย ทำให้บริษัทผู้ผลิตยาไทยทะยอยปิดตัวลง ไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่ผลิตยาหอมซึ่งนับว่าคงอยู่ได้นานกว่ายาประเภทอื่น
เมื่อมีการฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย รวมถึงการรณรงค์ให้ใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศบัญชียาแผนโบราณสามัญประจำบ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2542 ด้วยจุดมุ่งหมายที่ให้ประชาชนได้มียาสมุนไพรที่ดี ปลอดภัยไว้ใช้ในบ้าน โดยยาประเภทนี้สามารถวางขายในที่ใดก็ได้ ไม่ต้องเป็นสถานที่ที่ได้รับอนุญาตขายยา หรือสถานการแพทย์ ด้วยต้องการให้มีการกระจายยาอย่างทั่วถึง ประชาชนเข้าถึงยาสมุนไพรได้ ในประกาศนั้นมียาตำรับแผนโบราณ 27 ตำรับ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีประสิทธิภาพดี และใช้กันมายาวนาน ในจำนวนนั้นยาหอมอยู่ถึง 4 ชนิด คือ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร และ ยาหอมนวโกฐ ทั้ง 4 ชนิดนี้ มีข้อบ่งใช้ดังนี้คือ
ยาหอมเทพจิตร ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ โดยผสมน้ำดอกไม้เทศ
ยาหอมทิพโอสถ แก้ลมวิงเวียน แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสายยา
ยาหอมอินทจักร แก้คลื่นเหียนอาเจียน โดยใช้น้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม หรือน้ำสุก แก้ลมจุกเสียด ใช้น้ำขิงต้ม
ยาหอมนวโกฐ แก้ลมคลื่นเหียน อาเจียน ใช้น้ำลูกผักชี เทียนดำต้ม แก้ลมปลายไข้ ใช้ก้านสะเดา ลูกกระดอม และบอระเพ็ด ต้มเอาน้ำ ถ้าหาน้ำกระสายไม่ได้ใช้น้ำสุกแทน
อย่างไรก็ดี พบว่าคนทั่วไปยังมีความสับสนในการเลือกใช้ยาหอมทั้ง 4 ชนิดนี้ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเรื่อง ยาหอมตามหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทยก่อนว่า ยาหอม เป็นยาที่ใช้บำรุงหัวใจ ซึ่งในทางการแพทย์แผนไทยไม่ได้หมายถึงยากระตุ้นการทำงานหรือการปรับการเต้นของหัวใจ แต่หมายถึงยาปรับการทำงานของลมที่เคลื่อนไหวทั่วร่างกายมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก การหมุนเวียนของเลือด เรียกรวมกันว่า ลมกองละเอียด ยาหอมบางชนิดนอกจากใช้บำรุงหัวใจแล้ว ยังใช้สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดจากลมกองหยาบ ซึ่งหมายถึง ลมที่อยู่ภายในทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการจุกเสียดอีกด้วย การตั้งตำรับยาหอมจึงต้องประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมาก เพื่อปรับการทำงานของธาตุลม ไฟ และน้ำ ให้เข้าสู่สมดุลย์ และการใช้ยาแต่เนิ่น ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เสียสมดุลย์มากจนกระทบธาตุดิน และยากแก่การรักษา ในองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทยนั้นยาหอมตั้งขึ้นเพื่อรักษาโรคที่เกี่ยวกับลม ที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ประกอบด้วยสมุนไพรที่จำแนกได้เป็นกลุ่มดังนี้
1. ยาพื้นฐาน เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ส่วนใหญ่มีรสสุขุม ยากลุ่มเป็นยาพื้นฐานด้วยความประสงค์ที่จะทำให้ร่างกายเราอยู่ในสมดุลย์ คือไม่ร้อน หรือเย็นเกินไป สมุนไพรในกลุ่มนี้ได้แก่ โกฐทั้ง 5 เทียนทั้ง 5 กฤษณา ขอนดอก กระลำพัก อบเชย
2. สมุนไพรเพิ่มการทำงานของธาตุลม เป็นตัวยารสร้อนหรือรสเผ็ดร้อน เช่น สมุลแว้ง สนเทศ ว่านน้ำ กระชาย เปราะหอม สุรามฤต ข่าต้น ลูกจันทน์ ผิวส้ม ตัวยากลุ่มนี้เป็นตัวยาหลัก เพราะยาหอมเป็นยาที่ใช้ปรับการทำงานของธาตุลมให้เข้าสู่สมดุลย์ แต่อย่างไรก็ดี ถ้ามีตัวยากลุ่มนี้มาก การเติมตัวยาเหล่านี้มาก จะทำให้ยาตำรับค่อนข้างไปทางร้อน ซึ่งจะเหมาะสำหรับการรักษาอาการวิงเวียน เป็นลม
3. ยาปรับธาตุ ซึ่งมักนำมาจากพิกัด เบญจกูล (สะค้าน ช้าพลู ขิง ดีปลี เจตมูลเพลิงแดง) หรือ พิกัดตรีผลา (สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม) พิกัดตรีที่เลือกใช้เพื่อปรับธาตุ มักเป็นพิกัดตรีผลา ในยาหอมที่ใช้สำหรับแก้ปัญหาเลือดลม เพราะพิกัดนี้ใช้ปรับกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับธาตุไฟ
4. ส่วนประกอบ ที่ใส่เฉพาะตำรับ เพื่อใช้เฉพาะอาการ ได้แก่
พิกัดเกสร หรือ ดอกไม้ชนิดต่างๆเช่น มหาหงส์ กาหลง เป็นต้น ทำให้ยาหอมประเภทนี้จะเป็นยาหอมสุขุม เย็น รสความร้อน ทำให้จิตใจที่ร้อนรุ่ม เย็นลง สงบมากขึ้น
สมุนไพรรสขม หรือ เย็น เพื่อลดไข้ ลดความร้อน เช่น ลูกกระดอม บอระเพ็ด ราชดัด หญ้าตีนนก จันทน์ขาว จันทน์แดง ฝาง ดอกคำไทย สรรพคุณบำรุงเลือด พบในยาหอมสำหรับปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน กระจับ แห้วหมู สรรพคุณ บำรุงกำลัง
จากการที่ยาหอมมีองค์ประกอบหลัก ข้อ 1 และ 2 คล้ายกัน แต่องค์ประกอบในข้อ 3 และ 4 แตกต่าง ทำให้ยาหอมทุกชนิดมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน แต่บางชนิดอาจต้องใช้ร่วมกับน้ำกระสายยา เนื่องจากมีตัวยาแก้ลมวิงเวียนน้อยไป นอกจากนี้ ยาหอมบางชนิดยังมีความจำเพาะในการเลือกใช้ ดังนี้
ยาหอมเทพจิตร
ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด ตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ ครึ่งหนึ่งของน้ำหนักทั้งตำรับ และเปลือกส้ม 8 ชนิดรวม 56 ส่วนใน 368 ส่วนของทั้งตำรับ เหมาะสำหรับ อาการลม วิงเวียนซึ่งเกิดจากฤทธิ์ของตัวยารสร้อนหลายชนิด รวมถึงผิวส้ม 8 ประการ ตามหลักการแพทย์แผนไทย ผิวส้มมีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย สวิงสวาย และ บำรุงหัวใจ ซึ่งหมายถึง บำรุงให้จิตใจรู้สึกแช่มชื่น เหมาะกับคนที่รู้สึกซึมเศร้า มีอารมณ์เศร้าหมอง ที่มักเกิดขึ้นในบางเวลา หรือคนสูงอายุที่รู้สึกเหงา เศร้า โดยตัวยาหลักคือ ดอกมะลิ มีสรรพคุณบำรุงจิตใจให้ชุ่มชื่น สอดคล้องกับรายงานวิจัยน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้จิตใจสดชื่น หลังการนวดอะโรมา นอกจากนี้มีรายงานวิจัยในหนูที่กินน้ำมันผิวส้ม และ การใช้น้ำมันผิวส้มนวดอะโรมา ทำให้คลายกังวล และสงบระงับ อย่างไรก็ดีการใช้ยาหอมในกลุ่มอาการเหล่านี้ ใช้ได้เฉพาะอาการที่แรกเริ่ม ไม่ใช่ยารักษาอาการสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน
ยาหอมทิพโอสถ
ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด นอกจากยารสสุขุม เช่น โกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 และตัวยารสร้อน แล้ว การผสมเกสรทั้ง 5 คือ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี ดอกมะลิ เกสรบัวหลวง รวมถึง ดอกกระดังงา ดอกบัวจงกลนี ซึ่งมีรสเย็น หัวแห้วไทย และ กระจับ มีสรรพคุณบำรุงกำลัง ดอกคำไทย ฝาง มีสรรพคุณบำรุงเลือด ทำให้นอกจากใช้แก้ลมวิงเวียน โดยละลายน้ำสุกหรือน้ำดอกไม้แล้ว ยังสามารถใช้ในสตรีที่มักมีความรู้สึกหงุดหงิดโกรธง่ายในช่วงก่อนมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นผลกระทบของความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบเดือนและกระทบต่อจิตใจ การใช้ยาที่มีดอกไม้เป็นส่วนผสมจะลดผลกระทบของความร้อนดังกล่าวลง ทำให้จิตใจเย็นลง โดยไม่ทำให้โลหิตเย็น ซึ่งกระทบต่อการมีประจำเดือน แต่ยานี้เป็นเพียงยาบรรเทาอาการเบื้องต้น ไม่ใช่การรักษาต้นเหตุ ต้องปรึกษาแพทย์แผนไทยในการแก้ไขอาการเหล่านี้ให้เข้าสู่สมดุลย์
ยาหอมอินทจักร
ประกอบด้วยตัวยา 50 ชนิด ยารสสุขุม เช่น โกฐ 7 ชนิดในโกฐทั้ง 9 ยกเว้นโกฐหัวบัว โกฐชฎามังษี เทียนทั้ง 9 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ตัวยารสร้อนเช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู เกสรทั้ง 7 ยารสขมได้แก่ บอระเพ็ด ลูกกระดอม รากหญ้านาง ดีวัว จันทน์แดง จันทร์เทศ เพื่อลดความร้อนแก้ไข้ ดับพิษภายใน บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร เถามวกขาว มวกแดง ดอกคำไทย ฝางเสน บำรุงโลหิต ซึ่งมีความหมายทำให้เลือดดี มีสีแดงสดใส ไม่ดำคล้ำ มีเลือดฝาดดี ไม่ได้เพิ่มการสร้างเม็ดเลือด ต่างจากความหมายของแผนปัจจุบัน โกฐน้ำเต้าเป็นยาระบาย เพื่อช่วยลดความร้อน ลูกผักชีลา โกฐกักกรา แก้คลื่นเหียน มีพิกัดเบญจกูลปรับธาตุ
ยาหอมอินทจักร ใช้ได้ดีในการแก้คลื่นไส้อาเจียนโดยละลายยากับน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม หรือน้ำสุก เนื่องจากในตำรับมีตัวยาแก้คลื่นไส้ 2 ชนิด คือ ลูกผักชีลา โกฐกักกราแก้ลมจุกเสียด โดยละลายด้วยน้ำขิงต้ม ด้วยเหตุที่ว่ามีส่วนประกอบของ ดีวัว ที่บำรุงน้ำดี บอระเพ็ด บำรุงไฟธาตุ ทำให้การเผาผลาญสมบูรณ์ดีขึ้น และมีพิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ นอกจากนี้ยาหอมอินทจักร สามารถใช้ในอาการหงุดหงิดกระวนวาย จิตใจไม่สงบ โบราณเรียกว่าลมบาดทะจิต (ละเมอเพ้อพกพูดคนเดียวเหมือนผีเข้า เกิดจากจิตระส่ำระสาย) โดยละลายยาด้วยน้ำดอกมะลิ การออกฤทธิ์น่าจะเป็นด้วยน้ำดอกมะลิที่ใช้เป็นน้ำกระสายยา ดอกพิกุล รสหอมเย็น แก้ไข้เพ้อคลั่ง และ ดีวัว ที่มีสรรพคุณ ดับพิษภายใน แก้พิษ เพ้อคลั่ง สติลอย ตาลาย พาให้รสยาแล่นไปทั่วตัว ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในกรณีที่เป็นไข้สูงและเพ้อ เนื่องจากอาจไม่สามารถลดไข้ได้ทันเวลา เพราะตัวยาลดไข้มีปริมาณไม่มาก
ในรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมอินทรจักร เพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ซึ่งน่าจะได้ผลดีต่ออาการเป็นลม และยังพบว่า ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ต้านการอาเจียน ซึ่งสอดคล้องกับสรรพคุณแผนไทย ทำให้ยืดเวลาการนอนหลับของสัตว์ทดลองเมื่อให้ร่วมกับยานอนหลับ
ยาหอมนวโกฐ
ประกอบด้วยตัวยา 58 ชนิด มียารสสุขุม เช่น โกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 9 กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก ตัวยารสร้อนเช่น ลูกจันทน์ ดอกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู แก่นสน เกสรทั้ง 5 ยารสขม ได้แก่ ลูกราชดัด จันทน์แดง จันทร์เทศ บอระเพ็ด ลูกกระดอม เพื่อลดความร้อนแก้ไข้ ดับพิษภายใน บำรุงไฟธาตุ เจริญอาหาร ลูกผักชีลา แก้คลื่นเหียน มีพิกัดเบญจกูลปรับธาตุ เช่นเดียวกับยาหอมอินทจักร
ใช้แก้คลื่นไส้ โดยละลายยาด้วยน้ำลูกผักชี หรือเทียนดำต้ม เนื่องจากในตำรับมีตัวยาแก้คลื่นไส้ คือ ลูกผักชีลา และมีตัวยาปรับสมดุลย์อื่นๆ รวมทั้งมีพิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ แต่อย่างไรก็ดี จะโดดเด่นในการใช้แก้ลมปลายไข้ โดยผสมกับน้ำสุก ลมปลายไข้ หมายถึงอาการท้องอืด เฟ้อ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เกิดหลังจากหายไข้ ในระยะพักฟื้น เนื่องจากมียารสขมเช่น ลูกกระดอม บอระเพ็ด บำรุงน้ำดี เจริญอาหาร บำรุงไฟธาตุ การเผาผลาญสมบูรณ์ดีขึ้น พิกัดเบญจกูลช่วยปรับธาตุ ทำให้ร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น
ในรายงานการวิจัยพบว่ายาหอมนวโกฐเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ และ เพิ่มความดันโลหิตเล็กน้อย ทำให้หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น ยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางทำให้หลับสบาย และทำให้การหลั่งกรดลดลง และยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็ก แก้ปวดท้องได้ดี
น้ำกระสายยา
นอกจากข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน ของยาหอมทั้ง 4 ชนิด ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การใช้ยาหอมละลายกับน้ำกระสายยา จะทำให้รักษาอาการต่างๆได้หลากหลายขึ้น ดังต่อไปนี้
แก้ลมวิงเวียน ใช้ น้ำดอกไม้ หรือ น้ำสุก
แก้ลมบาดทะจิต ใช้น้ำดอกมะลิ
แก้คลื่นเหียนอาเจียน น้ำลูกผักชี หรือ เทียนดำต้ม หรือ น้ำสุก
แก้ลมจุกเสียด น้ำขิงต้ม
แก้ลมปลายไข้ น้ำสุก
แก้ท้องเสีย น้ำต้มใบทับทิม หรือ น้ำต้มเหง้ากระทือเผาไฟ
ข้อแนะนำสำหรับการใช้ยาหอม
การใช้ยาหอมให้ได้ผล แม้จะเป็นชนิดเม็ด ควรนำมาละลายน้ำกระสายยา หรือน้ำอุ่น รับประทานขณะกำลังอุ่น เหมือนกับวิธีการเดิม เพราะการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีในยาหอมจะช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น และออกฤทธิ์ผ่านประสาทรับกลิ่น และการดูดซึมผ่านกระเพาะอาหาร
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาหอม
ยาหอมไม่ใช่ยารักษาอาการโดยตรง แต่เป็นยาปรับสมดุลย์ธาตุโดยเริ่มจากธาตุลม เพื่อไปกระตุ้นการทำงานของน้ำ และไฟ ทำให้มีการไหลเวียนสะดวก เผาผลาญตามปกติ ซึ่งเป็นหลักวิธีคิดแบบองค์รวม ดังนั้น การใช้ยาหอมจะไม่ได้ให้ผลดีแบบปุบปับเหมือนยาเคมีสังเคราะห์ แต่จะทำให้สมดุลย์ที่เบี่ยงหรือเอนไป ค่อยๆปรับกลับสู่สภาพเดิม ขนาดที่ใช้ควรใช้ตามคำแนะนำ การกินเกินขนาดที่แนะนำไม่ทำให้เกิดอาการพิษทันที แต่จะผลักดันให้การทำงานของธาตุเปลี่ยนไปเร็ว และทำให้สมดุลย์อาจขาดหรือเกินไปอีกทางได้ จึงควรเดินทางสายกลาง เริ่มใช้ยาตั้งแต่มีอาการน้อยๆค่อยเป็นค่อยไปจึงจะดี
อย่างไรก็ดี การเลือกใช้ยาหอมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกชนิดของยาหอมและน้ำกระสายยาให้ถูกกับอาการ ขนาดที่ใช้ใกล้เคียงกับน้ำหนักตัว และหากไม่สามารถซื้อหรือเก็บยาหอมหลายชนิดไว้ในตู้ยาประจำบ้าน ก็สามารถเลือกยาหอมประเภทกลางๆเช่น ยาหอมอินทจักร และใช้ร่วมกับน้ำกระสายยาตามที่ระบุ การใช้ยาหอมไม่ใช่แก่คร่ำครึ แต่ยาหอมเพียงตำรับเดียว ก็เสริมสุขภาพให้ดีทั้งครอบครัวได้ โดยไม่ต้องใช้ยาเคมีสังเคราะห์ และยังเป็นการสืบเจตนารมณ์ของรุ่นปู่ย่าตายาย ที่อุตส่าห์สั่งสมความรู้ไว้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานไทย
ผู้เขียน ขอขอบคุณ หมอมานาวุธ ผุดผาด แพทย์แผนไทยที่ได้ให้ความรู้ ความเห็น ทำให้วิเคราะห์ข้อมูลตามแนวคิดของการแพทย์แผนไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีข้อผิดพลาดหรือความเห็นที่แตกต่าง ผู้เขียนยินดี รับฟัง เพื่อปรับให้ใช้ยาตำรับโดยเฉพาะยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ สามารถอธิบายด้วยหลักการการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2542 (คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 67ง วันที่ 24 สิงหาคม 2542)
- มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม และโรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับอนุรักษ์) ฉบับชำระ พ.ศ.๒๕๕๐.
- โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร. ตำราประมวลหลักเภสัช. กรุงเทพฯ: 2524
- เชาวน์ กสิพันธุ์. ตำราเภสัชศึกษา. กรุงเทพฯ: สมาคมแพทย์เภสัชกรรมไทยโบราณ, 2522.
- ประเสริฐ พรหมมณี และ ปริญญา อุทิศชลานนท์ เรียบเรียง. ตำราเภสัชกรรมไทยแผนโบราณ สำหรับผู้อบรมศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ และผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ. กรุงเทพฯ: กองวิชาการแพทย์โบราณ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์, 2515.
- รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และพินิต ชินสร้อย ยาหอม ยาลม. เอกสารวิชาการ ในมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 7 เรื่อง หอมกรุ่นทั่วไทย หอมไกลทั่วโลก, 2553.
- Hongratanaworakit T. Stimulating effect of aromatherapy massage with jasmine oil. Nat Prod Commun. 2010 Jan;5(1):157-62.
- Carvalho-Freitas MI, Costa M. Anxiolytic and sedative effects of extracts and essential oil from Citrus aurantium L. Biol Pharm Bull. 2002 Dec;25(12):1629-33.
- Tapanee Hongratanaworakit, and Gerhard Buchbauer. Physiological and psychological effects of essential oil in aromatherapy massage. 32nd Congress on Science and Technology of Thailand (STT.32), held on 10 – 12 October 2006 at Queen Sirikit National Convention Center, Bangkok, Thailand.

http://www.thaihealth.or.th/
เมื่อพูดถึงยาหอมคงไม่มีใครไม่รู้จัก แต่คนส่วนใหญ่แม้รู้จักก็จริง แต่อาจเพียงชื่อ สำหรับคนที่รู้จักก็เข้าใจว่า ยาหอมเป็นยาคนแก่สำหรับใช้แก้ลมวิงเวียนเท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้วยาหอมมีสรรพคุณมากมาย
รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เทคนิคการป้องกัน บรรเทา และรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นจากโรคต่างๆ ด้วย “ยาหอม” และศาสตร์การดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร
รศ.พร้อมจิต บอกว่า ปัจจุบันเรามียาหอมมากกว่า 500 ตำรับ ซึ่งแต่ละตำรับประกอบไปด้วยสมุนไพรมากมายหลายสิบชนิด โดยสันนิษฐานกันว่าที่มาของชื่อยาหอมนี้น่าจะมาจากกลิ่นของสมุนไพรในตำรับ ยา เช่น จันทน์เทศ จันทน์แดง จันทร์ขาว ดอกพิกุล บุนนาค สารภี ใบพิมเสน เกสรบัวน้ำ เปราะหอม เป็นต้น
ในส่วนของสรรพคุณ นอกจากยาหอมจะช่วยบรรเทาอาการปวดมึนศีรษะ เป็นลม วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น อย่างที่ เรารู้ๆ กันแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะข้างเดียว ความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งบำรุงประสาทและบำรุงหัวใจอีกด้วย ที่สำคัญคือ ปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงสรรพคุณต่างๆ ของยาหอมมีส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายของเราด้วย
สรรพคุณที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้
รศ.พร้อมจิต อธิบายว่า ข้อมูลศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์นี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงศักยภาพของตำรับยาแผนโบราณให้กลับเข้ามาอยู่ในกระแสสังคมอีกครั้ง และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ โดยได้เลือกทำการศึกษาเปรียบเทียบ ตำรับยาหอม 3 ตำรับคือ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมอินทรจักร ซึ่งเป็นยาในชื่อบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ของกระทรวงสาธารณสุข 2 ตำรับ มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบกว่า 50 ชนิด และยาหอมของภาคเอกชน 1 ตำรับ ซึ่งยาหอมทั้ง 3 ตำรับนี้จะมีสมุนไพรที่ทับซ้อนกันอยู่ประมาณ 40 ชนิด โดยผลจากการวิจัยครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าสารสกัดยาหอมทั้ง 3 ตำรับนี้มีฤทธิ์ต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเรา คือ
ยาหอมมีฤทธิ์ต่อหัวใจ คือสามารถเพิ่มความแรงการบีบตัวของหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสกัดยาหอมอินทรจักร
มีฤทธิ์เพิ่มความดันโลหิต โดยเฉพาะในขนาด 4 กรัม ผงยาหอม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เพิ่มความดันเลือด systolic, diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย โดยมีผลต่อความดันเลือด systolic มากกว่า ความดันเลือด diastolic และความดันเลือดเฉลี่ย
มีฤทธิ์ต่ออัตราการไหลเวียนในหลอดเลือดสมอง พบว่า หลอดเลือดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองขยายตัว และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น
มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือส่งผลต่อการนอนหลับได้ โดยสารสกัดยาหอมของเอกชนและอินทจักร มีฤทธิ์กดต่อระบบประสาทส่วนกลางเมื่อให้สัตว์ทดลองได้รับเฉพาะแต่สารสกัด แต่ถ้าให้สารสกัดยาหอมทั้ง 2 ชนิดนี้ร่วมกับ pentobarbital ซึ่งเป็นยานอนหลับ จะพบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับยาวนานขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะสารสกัดยาหอมนวโกฐมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางมากกว่า 2 ชนิดแรก
ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดยาหอมนวโกฐจะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ซึ่งพบว่า ยาหอมนวโกฐมีผลยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กได้มากกว่าอีก 2 ตำรับ
ฤทธิ์แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน สารสกัดยาหอมอินทรจักรสามารถต้านการอาเจียนได้
ปลอดภัยไร้สารตกค้าง
จากผลการวิจัยนี้จะเห็นว่ายาหอมแต่ละตำรับ แม้จะให้ผลโดยรวมคล้ายกัน แต่มีน้ำหนักในสรรพคุณต่างๆ ที่ต่างกัน ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ เช่น ยาหอมนวโกฐทำให้หลับสบาย ช่วยบรรเทาปวดท้องได้ดีกว่า ขณะที่ยาหอมอินทรจักรบรรเทาคลื่นไส้ได้ดีกว่า
“นอกจากนี้ในงานวิจัยนี้ยังได้ทดสอบความเป็นพิษตกค้างของยาหอมทั้ง 3 ชนิดด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผลที่ได้ไม่พบว่า มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต ค่าเคมีของเลือด รวมทั้งการทำงานของระบบตับและไตของของหนูที่ทำการทดลอง ซึ่งนั่นหมายถึงมีความปลอดภัยในการใช้นั่นเอง” อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุป
ยาหอมนับเป็นภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของไทย หากเราสามารถนำมาใช้ประโยชน์โดยอาศัยความรู้ ก็จะสามารถบำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดีและปลอดภัย
โรคลม กับยาหอม
คุณยายผม ท่านได้เสียชีวิตไป 30 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังนึกถึงท่านอยู่ตลอด ยังจดจำใบหน้าที่ใจดีของยายได้เสมอ ผมเป็นหลานรักของยาย ยายจะไปไหนใกล้ไกลสักปานใด ก็กระเตงผมไปด้วยตลอด โดยผมได้รับมอบหมายหน้าที่อันทรงเกียรติคือ หิ้ว “เชี่ยนหมาก” ของคุณยาย คนสมัยใหม่ คงจะงงนะ เอ ! เจ้า “เชี่ยนหมาก” ที่ผมว่ามันคืออะไร มันเป็นของกิน ของใช้ หรือของเล่นกันแน่ ก็ขอเฉลยเลยก็แล้วกัน จะได้ไม่ต้องมานั่งมึนงงกันอยู่ มันก็คือภาชนะใส่หมากพลูนั่นเอง ก็ยายผมเป็นคนโบราณ ชอบกินหมาก ก็ต้องมี “เชี่ยนหมาก” เป็นสมบัติของตัวเอง จะเที่ยวไปกินของใครๆ เขาได้ไง ผมเป็นเด็กที่ชอบเล่นเชี่ยนหมากของยาย มีของน่าเล่นหลายอย่าง มีการลองชิม ลองกินหมากด้วยแต่ไม่เห็นอร่อยเลย เผ็ด ฝาด ปูนก็กัดปาก ไม่รู้ทำไมยายถึงชอบกิน
ปัจจุบันคนไทยไม่ค่อยกินหมากเห็นมีแต่ชาวอินเดียแถวพาหุรัด ที่ตั้งขายให้พวกเดียวกันกินและที่ขึ้นชื่อในการกินหมากตอนนี้เห็นจะเป็นชาวไต้หวัน เขาจะห่อหมากเป็นคำๆ (ไม่ต้องเอามาใส่ครกตำเหมือนของยาย) ไม่ว่าคนหนุ่ม คนแก่เห็นเคี้ยวกันตุ้ยๆคนขายหมากก็เป็นสาวสวย มีการนุ่งน้อยห่มน้อยเสียด้วย ไม่เหมือนคนขายหมากของบ้านเรา มีแต่สาวที่อายุคราวยายขายใส่เสื้อสายเดี่ยวเหมือนกันนะ (เสื้อคอกระเช้า) ถึงว่าหมากไทยถึงหมดความนิยม ถ้าหากเปลี่ยนรูปลักษณ์คนขายเสียใหม่ จัดหมากพลูให้สวยงาม ใส่มูลค่าเพิ่มเข้าไปหน่อยให้หลานๆ คุณตา คุณยาย จัดเครื่องแต่งตัวดีๆ มาตั้งแผงขาย คนไทยอาจจะหันกลับมากินหมากแข่งกับชาวไต้หวันอีกครั้งก็ได้
ในเชี่ยนหมาก ก็มีหมาก มีทั้งแบบสด แบบแห้ง พลู ปูน (สีแดง) ยาเส้น ครกและสากเล็กๆ ใช้ตำหมาก มีกระป๋องใส่น้ำหมากที่ยายบ้วนออก เศษสตางค์มีทั้งของยาย และของคนอื่น ไม่รู้จะเอาไว้ไหน ก็ใส่ไว้ (อันนี้ผมชอบมาก จะได้ขอยายไปซื้อขนม) และที่ขาดไม่ได้ คือ ยาหอม ยาอม ยาดม ยาหม่อง
พอยายจะกินหมากเราก็จัดแจง เอาใบพลูมา ทาปูนลงใบ ม้วนใส่ครก ใส่หมากลงไป ตำพอแหลกก็ตักให้ยายกินดึงเอายาฉุนให้ยายสีปากสีฟันนิดหน่อย ยายก็เคี้ยวๆ อมๆ กลืนบ้าง น้ำหมากเต็มปากก็บ้วนออก ปากแดงทั้งวันได้เคี้ยวหมากแล้วจะอารมณ์ดี ไม่หงุดหงิด แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงมากกว่า คือ ยาหอม ยาอม ยาดม ยาหม่องนี่แหละครับรับรองว่า “เชี่ยนหมาก” ของผู้สูงอายุทุกท่านจะต้องมีขาดไม่ได้แน่ ผมจะต้องตระเตรียมไว้ให้ยายตลอดไม่ว่าใครในบ้านจะเป็นอะไร ปวดหัว ตัวร้อน ถ่ายไม่ออก แมลงสัตว์กัดต่อย เราก็จะต้องไปควานหายา ใน “เชี่ยนหมาก” ของยายก่อน
โบราณท่านว่า เมื่อเข้าสู่ปัจฉิมวัย (วัยผู้เฒ่า) อายุพ้น 30 ปี จนถึงสิ้นอายุไข วาตะ (ลม) เป็นสมุฏฐานเจ้าเรือน ถ้าเจ็บป่วยให้ตั้งวาตะเป็นต้น ก็แปลความหมายได้ว่าเมื่อคนเรามีอายุพ้น 30 ปีขึ้นไป มูลเหตุที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ นั้นมาจาก “ลม” เป็นส่วนใหญ่ การจะรักษาก็ต้องเน้นที่การรักษา “ลม” เป็นหลักแล้วค่อยดูเหตุอื่น
ก็เพราะฝรั่งเขาไม่มีเครื่องตรวจลมนี่แหละ จึงหาโรคไม่เจอ จะบอกหมอว่าลมเยอะ เพราะลมทำเหตุ หมอก็ไม่เชื่อ แถมจะหัวเราะให้อีก มันน่ากลุ้มใจไหมล่ะ ในยุคที่เศรฐกิจกำลังซบเซาอย่างนี้ เราลองหันกลับไปมองยาที่อยู่ใน “เชี่ยนหมากของยาย” กันใหม่อีกทีน่าจะดี คงจะทุ่นเงินที่จะต้องจ่ายไปในการดูแลรักษาสุขภาพไปได้อีกมากโข
เมื่อมีอาการจะเป็นลม หน้ามืด บ้านหมุนขึ้นมา ก็ชงยาหอมกิน เอายาดมมาดม แล้วเอายาหม่องมาทาท้อง หน้าอก และทาขมับ นอนพักในที่อากาศถ่ายเทได้ดี เอาพัดมาพัด บีบนวดให้ลมได้เดิน สักพักก็หายเป็นปกติ นี่คือสูตรการรักษาของคนไทยแต่โบราณนานมา “ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ก็ชงยาหอมกิน เอายาหม่องทาท้องให้มันร้อนๆ หน่อย”
ยาหอม ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิดบางตำหรับมีสมุนไพร 50 กว่าชนิด มีคุณสมบัติในการช่วยในการหลั่งน้ำย่อย และขับลมในกระเพาะ ชงกินวันละ 3-4 ครั้ง เมื่ออาหารที่กินเข้าไปแล้วย่อยได้ก็ไม่เกิดลมในลำไส้ ไล่ลมที่มีอยู่ในท้องออกไป อาการปวดท้องก็ดีขึ้น ผู้ที่มีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ทดลองทำตามโบราณว่าไว้ดูก่อน ชงยาหอมเข้มๆ ทานซักถ้วย หลายคนเทยาหอมเข้าปากแล้วกินน้ำตามเพราะขี้เกียจชง คิดว่าสุดท้ายก็ไปอยู่ในท้องเหมือนกัน วิธีนี้ต้องบอกว่าเสียของเพราะชื่อ “ยาหอม” นั้นบอกถึงการบำบัดด้วยกลิ่น ในยาหอมมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้และสมุนไพรเมื่อถูกชงด้วยน้ำร้อนกลิ่นจะระเหยขึ้นให้เราสูดดม แม้ว่าจะทานเข้าไปแล้วก็ตาม กลิ่นบำบัดนี้เมื่อเข้าสู่สมองจะช่วยให้อวัยวะในร่างกายผ่อนคลาย ลำไส้ กระเพาะอาหาร บ่าไหล่ ที่หดเกร็งก็จะคลายตัว ลมที่ดันขึ้นจนเวียนศีรษะ จุกแน่น บ่าไหล่ตึง คลายตัวไปได้
ให้ท่านสังเกตดูตัวเองถ้ามีลม จะเรอบ่อย ผายลม แน่น จุกท้อง จุกคอเหมือนมีก้อนอะไรติดอยู่ในคอ ร้อนในง่าย ปวดเมื่อยหลัง ไม่ค่อยถ่ายอุจจาระหรือถ่ายอุจจาระไม่สุดแสดงว่ามีลมอัดแน่นแล้วรีบหาทางระบายลมออกเสียก่อน จะได้ไม่เป็นลมจนถูกหามส่งโรงพยาบาลรู้อย่างนี้แล้วชาวไทยอย่าลืมพกยาหอมติดกระเป๋าไว้บ้างเผื่อเราและคนข้างเคียงนะครับ
ที่มา :
บทความจากหนังสือ ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น เล่ม 4 ตอน ไทยแลนด์สไตล์
http://thearokaya.co.th/web/?p=2262