ตอนที่1
พักนี้มีคนถามมาบ่อยเรื่องผักไฮโดรฯ การทำสารละลายแบบบ้านสำหรับผักไฮโดรฯและปีหน้าฝนแล้งขาดแคลนนำ้ยิ่งกว่าปีนี้แน่นอนรับรองผักโคตรแพง ผักไฮโดรโปนิกเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งสำหรับเกษตรกรเพาะใช้นำ้น้อยมาก
พอพูดถึงการปลูกผักไร้ดินขึ้นมาบางคนส่ายหน้าเพราะคิดว่ามันแพง ต้นทุนสูง เหมาะสำหรับบ้านที่มีอันจะกิน คนหาเช้ากินเย็นๆคงทำไม่ได้ เพราะที่เสนอขายชุดปลูกสำเร็จรูปถือว่าแพงมาก รวมทั้งสารละลายที่ปลูก วันนี้ครูชาตรีขออนุญาตนำเสนอวิธีการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์แบบง่ายๆเหมาะสำหรับรับมือภัยแล้งในปีหน้าจะได้มีผักไว้ขายเอาเงินมาซื้อปลาทูตำน้ำพริกครับ
อันดับแรกครูชาตรีตั้งกฎของไฮโดรโปนิกส์ไว้ 3 ข้อครับ
1.มีระบบน้ำไหลผ่านระบบรากตลอดเวลา
2. ระบบน้ำต้องเป็นระบบหมุนเวียน
3. ในน้ำนั้นมีธาตุอาหารเพียงพอต่อพืชซึ่งพืชต้องการธาตุอาหารหลักในการเจริญเติบโต 3 ตัวคือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปรแตสเซียม (K) นอกนั้นเป็นธาตุอาหารรองซึ่งพืชต้องการแต่ต้องการในปริมาณที่น้อย
ถ้าเรายึดกฎ3ข้อเราจะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ง่ายมาก เช่น เราหาอ่างมา1ใบ ใส่น้ำที่มีสารอาหารสำหรับพืชลงไปเอาเสื้อยืดมาแขวนแล้วปั๊มน้ำที่มีสารละลายให้ผ่านเสื้อยืดตลอดเวลา เจาะรูที่เสื้อเอาต้นไม้เสียบลงไปปลูกแค่นี้ก็ปลูกผักได้แล้ว ลองดูตัวอย่างนะครับว่ากฏ3ข้อปลูกผักแบบใดได้บ้าง
และพบกันใหม่ตอนที่2 นะครับ
ตอนที่2
อาจจะยาวหลายตอนท่านที่ทราบแล้วถือว่าทบทวนความจำ ท่านที่ไม่รู้จักก็จะได้รู้จัก ท่านใดเป็นเซียนผิดถูกอย่าว่ากันนะ เริ่มกันเลย การปลูกผักไฮโดรเริ่มอย่างไร
อันดับแรกมารู้จักระบบผักไร้ดินแบบไฮโดรฯกันก่อน ถือว่าทุกคนเป็นนักเรียนม.1ก็แล้วกัน
ระบบการปลูกการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์โดยทั่วไปมีหลายระบบ
1. ระบบ NFT (Nutrient Film Technique) การปลูกแบบนี้จะเป็นการปลูกพืชโดยรากแช่ อยู่ในสารละลายโดยตรง สารละลายธาตุอาหารจะไหลเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ (หนาประมาณ 2-3 มิลิเมตร) ในรางปลูกพืชกว้าง ตั้งแต่ 5-35 ซม. สูงประมาณ 5 – 10 ซม. ความกว้างราง ขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่ปลูก ความยาวของราง ตั้งแต่ 5 – 20 เมตร การไหลของสารละลายอาจเป็นแบบต่อเนื่องหรือแบบสลับก็ได้โดยทั่วไปสารละลายจะ ไหลแบบต่อเนื่อง อัตราไหลอยู่ในช่วง 1 – 2 ลิตร/นาที/ราง เหมาะสำหรับปลูกผักสลัดทั่วไปและประหยัดแรงงาน(ภาพท่ี1)
2. ระบบ DFT (Deep Flow Technique) เป็นระบบที่ใช้ท่อ PVC มาปลูกผัก โดยหลักการเดียวกับ ระบบNFT โดยที่มีน้ำไหลผ่านท่อ ความหนาของน้ำจะสูงกว่าระบบNFT จะเป็นระบบที่นิยมใช้กันมากในไทยเนื่องจากต้นทุนถูก (ภาพที่2)ข้อมูลภาพจาก zen hydroponics
3. ระบบ DRFT (Dynamic Root Floating Technique) เป็นการปลูกพืชแบบน้ำเยอะ ส่วนมากนิยมปลูกกันในถาดโฟม เหมาะสำหรับปลูกผักไทย(ภาพที่3)
4.ระบบ Aeroponics เป็นระบบที่รากพืชลอยอยู่ในอากาศ และมีการฉีดสารละลายไปที่รากพืชโดยตรง เนื่องจากต้องใช้ปั๊มแรงดันสูงในการฉีดสารละลายให้เป็นฝอย จึงเปลืองพลังงานมาก จึงใช้ปลูกแค่ในห้องทดลองเพื่อการทำวิจัย หรือปลูกเป็นงานอดิเรกเท่านั้น ไม่นิยมปลูกเพื่อการค้า(ภาพที่4)ข้อมูลภาพจาก zen hydroponics
5.ระบบไฮโดรโปนิกส์แบบให้อากาศ คือการปลูกพืชในสารละลายแล้วปั๊มอากาศเข้าไปในน้ำ เช่นเดียวกับการเติมอากาศในตู้ปลาเหมาะสำหรับปลูกไว้รับประทานเองในครอบครัวไม่เหมาะสำหรับระบบการค้า (ภาพที่5) ข้อมูลภาพจาก agri.wu.ac.th
6.ระบบผสม แบบนี้ผมประยุกต์ขึ้นมาใช้เองเนื่องมาจากต้องการลดต้นทุน เพราะทุกระบบที่กล่าวมาจะเป็นวัสดุสำเร็จรูปที่มีผู้ผลิตมาจำหน่ายโดยเฉพาะทำให้มีราคาแพง พื้นที่บางแห่งหาซื้อได้ยาก.ในส่วนของโรงเรียนจะตัดแปลงโต๊ะปลูกระบบรางปลูกหรือท่อเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่ปูทับด้วยพลาสติกกันน้ำเป็นรางสำหรับปลูก ภาพของครูชาตรี
ว้าว…..สงสัยยาวไปหน่อย…..สงสารคนที่ต้องอ่านจากมือถือ..ไม่ได้ใช้เครื่องพีซี… พรุ่งนี้แล้วกันตอนที่3ทำโต๊ะปลูกแบบง่ายๆสไตน์ครูชาตรี ว่ามันถูกขนาดไหน…เคลื่อนย้ายง่าย….อย่าลืมติดตามนะครับส่วนสูตรของผมต้องท้ายๆครับท่าน
ตอนที่3
วันนี้จะเป็นการสร้างโต๊ะสำหรับปลูกผักไฮโดโปนิกส์แบบง่ายๆมีหลายแบบครับ
1.การสร้างโต๊ะปลูกด้วยกระเบื้องลอนคู่โดยใช้ปั๊มน้ำของตู้ปลาเป็นปั๊มสำหรับหมุนเวียนน้ำ ปั๊มชนิดนี้มีแรงดันต่ำ ส่งได้สูงไม่เกิน70 ซม. ดังนั้นโต๊ะปลูกผักระบบนี้จะต้องมีความสูงไม่เกิน 50-60 ซม. มีความลาดเอียง ไม่เกิน2-5 องศา ความยาว ประมาณ10-12 เมตรแบบนี้สามารถทำเพื่อการค้าได้ครับ
อุปกรณ์ท่ีสำคัญก็จะเป็นกระเบื้องลอนคู่ของเก่าราคาน่าจะอยู่ท่ีแผ่นละ20 บาท ปั๊มตู้ปลาราคาประมาณ 350 บาท พลาสติกสีดำหน้ากว้าง2 เมตร ราคาเมตรละ50บาท โต๊ะแบบนี้ประหยัดตั้นทุนมากครับ (ภาพที่1-4) สำหรับโฟมท่ีเป็นวัสดุประกอบในการปลูกผมใช้โฟมหนา1 นิ้วการเจาะแผ่นโฟมสำหรับปลูกผักแบบปลูกบนแผ่นโฟมทั่วๆไป ใช้ท่อประปาเหล็กขนาดครึ่งนิ้วหรือ4หุนเผาไฟให้ร้อนแล้วเจาะตามรอยที่ทำ เครื่องหมายไว้ ถ้ามีหัวจุกเห็ดที่เป็นพลาสติกใส่ลงในช่องที่เจาะจะช่วยยืดอายุโฟมได้อีกนาน(ภาพท่ี5)
2.การสร้างโต๊ะปลูกด้วยกระเบื้องลอนคู่โดยวิธีการปลูกปลูกแบบหว่านไม่ใช้โฟม แบบนี้ผมประยุกต์ขึ้นมาอีกแบบหนึ่งเพราะต้องการลดการใช้โฟมและบางพื้นที่หาโฟมยาก วางระบบเหมือนแบบที่1เราเปลี่ยนจากโฟมเป็นตะแกรงปลูกท่ีทำด้วยแสลนดำซ้อนกัน2ชั้น(ภาพ6)ถ้าจะปลูกผักแบบหว่านจะนำวัสดุปลูกมาหว่านบนแสลนรดนำ้ให้ชุ่มหว่านเหมือนหว่านเมล็ดบนแปลงปลูกบนดินหลังจากนั้นก็เดินระบบนำ้เหมือนปลูกผักไฮโดรทั่วไป(ภาพ7-8)เมื่อผักงอกรากผักจะเจริญเติบโตในนำ้ท่ีมีปุ๋ย แต่ถ้าปลูกแบบเพาะกล้าเอานิ้วจิ้มแสลนให้เป็นรู เอากล้าผักเสียบลงไปในรูท่ีเราเอานิ้วจิ้มไว้ก็เป็นอันเสร็จวิธีการแสนง่าย(ภาพ9-10) และนี่คือผลผลิตที่ได้จากการจิ้มปลูก(ภาพ11-12)
พรุ่งนี้ตอนที่4นะครับเป็นรูปแบบโต๊ะปลูกง่ายๆสำหรับปลูกผักกินที่บ้านต้นทุนไม่ถึง1000บาทติดตามต่อไปนะครับ
ตอนที่4
สารละลายปลูกผักไฮโดรจากธรรมชาติ
ปลูกผักไร้ดินไม่ยาก ยากตรงที่ต้องหาสารละลายสำหรับมาปลูกพืช โดยเฉพาะพื้นที่ในชนบทห่างไกล เกษตรกรจะซื้อสารละลายมาปลูกพืชก็หาซื้อยาก และมีราคาแพง โรงเรียนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนสถาพรวิทยา อ.บางเลน จ.นครปฐม ได้พัฒนาสูตรสารละลายสำหรับการปลูกผักแบบไม่ใช้ดินหรือผักไฮโดรขึ้นเพื่อแก้ ปัญหาของการใช้สารละลายสำหรับปลูกผักซึ่งหาซื้อยากและมีราคาแพง ที่สำคัญเป็นการลดต้นทุนในการปลูกผัก แต่ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าสารละลายที่ได้เป็นสารละลายพื้นฐานเท่านั้น ผมใช้ปลูกผักพื้นบ้านพวกกวางตุ้ง มะเขือเทศ บวบ กระเพา โหระพา พริก เป็นต้น ไม่ได้ใช้ปลูกผักพวกสลัดนะครับเพราะผักท่ีปลูกนำไปประกอบอาหารและขายให้ชาวบ้าน ชุมชนผมเป็นประเภทบ้านน๊อกบ้านนอกเขาไม่กินผักสลัดเคยปลูกแต่ขายไม่ออกเลยเอาไปเลี้ยงไส้เดือน แต่ผมว่าน่าจะประยุกต์ได้กับผักสลัดนะครับ
เรามาลองทำดูแต่ละสูตรนะครับ
1 สูตรนำหมักมูลสุกร+ปุ๋ยสูตร เสมอ (16-16-16)
1.เตรียมถังพลาสติก 200 ลิตร เติมน้ำประมาณ 150ลิตร
2.นำขี้หมูแห้ง จำนวน 30 กก.ใส่ในถุงตาข่าย แช่ในถังน้ำที่เตรียมไว้ กดให้มิด ทิ้งไว้ 24 ชม. อย่าเกินเพราะจะกลายเป็นน้ำขี้หมูเน่า ครบ24 ชม.นำขี้หมูออกจากถัง
3.หมักต่ออีก 5-7 วันก็จะได้สารละลายขี้หมู สำหรับปลูกผักไร้ดิน
วิธีการใช้สารละลาย
1.เตรียมแปลงปลูกผักไร้ดินเหมือนการปลูกผักไร้ดินทั่วไป
2.เตรียมสารละลาย ใช้ น้ำสะอาด 50 ลิตร น้ำขี้หมูหมัก 50 ลิตร(คำนวณจาก100ลิตร ถ้าใช้น้ำขี้หมู 50ลิตร เติมน้ำ50ลิตร ปุ๋ย เคมี สูตรเสมอเช่น 16-16-16 จำนวน 100 กรัมสำหรับกวางตุ้ง ผักกาด
ปุ๋ย เคมี สูตรเสมอเช่น 16-16-16 จำนวน 200 กรัมสำหรับคะน้า ผักบุ้ง
3.ปลูกผักตามปกติ ถ้าสารละลายในถังยุบเนื่องจากการละเหยให้เติมน้ำขี้หมูหมักเท่าที่น้ำยุบ
4.ใช้สารละลายขี้หมูหมัก1 ลิตรต่อน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นผักที่เราปลูกทุกๆ 5-7 วัน
5.การดูแลเหมือนการปลูกผักไร้ดินทั่วไป ถ้าใบผักเหลือง ไม่สมบูรณ์ให้เติม ปุ๋ย เคมี สูตรเสมอเช่น 16-16-16 จำนวน 100 กรัม
ปลูกผักไร้ดินไม่ต้องใช้สารเคมี เกษตรกรสามารถทำได้เอง สำหรับปลูกพืชพวกมะเขือ พริก คะน้าใช้น้ำสะอาด 30 ลิตร น้ำขี้หมูหมัก 70 ลิตร
ปุ๋ย เคมี สูตรเสมอเช่น 16-16-16 จำนวน 100 กรัม หมั่นสังเกต ถ้า ผักชะงักการเจริญเติบโตอาจมีสาเหตุเนื่องมาจาก
1.ระบบน้ำหมุนเวียนไม่ทั่วแปลง
2.มูลสุกรต้องเป็นมูลสุกรจากหมูขุนเพราะมูลสุกรจากแม่หมูจะมีรำหยาบเป็นส่วน ผสมเพื่อไม่ให้หมูอ้วน มูลที่ได้จึงมีธาตุอาหารน้อยไม่พอต่อการเจริญเติบโตของพืช
3.การเติมปุ๋ยเคมีสูตร16-16-16 ให้สังเกตใบพืชถ้าใบพืชเหลืองให้เติมครั้งละ100กรัมทุกๆ5วันจนผักมีใบสมบูรณ์จึงหยุดเติม
2 สารละลายจากน้ำหมักมูลไส้เดือน
1.นำมูลไส้เดือน 20 กก ใส่ใส่กระสอบแล้วแช่ลงในถังน้ำทีเราใส่น้ำไว้ 100 ลิตร (กรณีเป็นน้ำประปาควรพักน้ำไว้5วัน) เติมออกซิเจนโดยใช้ปั๊มออกซิเจนแบบใช้กับตู้ปลาเป็นเวลา 3 วัน แล้วยกกระสอบปุ๋ยมูลไส้เดือนที่เราแช่ไว้ออก
2.เติมกลูโคส 400 กรัม หาซื้อได้จากร้านขายยา
3. น้ำตาลทรายแดง 1 กก(ไม่ควรใช้กากนำตาลเพราะน้ำหมักที่ได้จะมีสีน้ำตาลไม่ใสและกากน้ำตาลจะไป จับกับระบบรากพืชที่เราปลูกทำให้รากรับออกซิเจนไม่เพียงพอ น้ำหมักอื่นก็เหมือนกันถ้าใช้กับผักที่ปลูกระบบไฮโดรโปนิกส์ ไม่ควรใช้กากน้ำตาล อัตราการทดแทนน้ำตาลทรายแดง 1 กก.สามารถแทน กากน้ำตาลได้ 4 กก ) เติมออกซิเจน อีกประมาณ3-5 วัน สามารถนำไปใช้ได้
การใช้
ใช้เป็นสารละลายตั้งต้นนะครับสำหรับท่านใช้สารละลายABอยู่ก่อนลองค่อยปรับดูนะครับอย่าง ของเพื่อนผมให้ปรับเป็น60/40น้ำหมักมูลไส้เดือน 60สารละลายAB 40
ส่วนครูชาตรีจะใช้เต็ม100 แต่จะเติมปุ๋ยสูตรเสมอในอัตรา 200 กรัมต่อนำหมักมูลไส้เดือน 100ลิตรแต่ต้องแบ่งเติมเป็น 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และคอยสังเกตว่าผักมีลักษณะใบเหลืองให้เติมปุ๋ยสูตรเสมอครั้งละ100กรัมห่าง กัน5วันที่ใบเขียวปกติให้หยุดเติม
น้ำหมักมูลไส้เดือนทีได้ควรฉีดพ่นทางใบทุกๆ3-5วันก่อนนำไปใช้ ก่อนใช้ต้องผสมให้เจือจาง ในอัตราส่วน น้ำหมักมูลไส้เดือน 1 ลิตร ต่อ น้ำเปล่า 20 ลิตร ถ้าใช้กับพืชใบบอบบางใช้อัตรา 1ลิตรต่อน้ำ 30 ลิตร
พรุ่งตอนจบเป็นการผลิตสารละลายจากมูลค้างคาวเพื่อทดแทนปุ๋ยสูตรเสมอครับ
ได้รับอนุญาติเผยแพร่จากเจ้าของบทความแล้ว
ที่มา : Cha Tisol