ครีมกันแดดแบบไหนดี?

ป้าแตงคะ แดดร้อนเหลือทนเลยค่ะ จะปั่นจักรยานกลางแดดก็เป็นห่วงความงาม มีครีมกันแดดดีๆ แนะนำไหมคะ Yellow Submarine (ทางอีเมล)

 Yellow Submarine จ๋า แดดร้อนแรงจริงอะไรจริง ร้อนผ่าวเหลือทนจนคนเดินถนนและสาวนักปั่นหลายคนแอบหวั่นไหว เพราะหน้าตา ต้นคอ หัวไหล่ ใบหู และแขนสองข้างถูกแดดแผดเผาเอาจนไหม้เกรียม

 สาวๆ ไม่น้อยที่กลัวแก่ กลัวมีรอยเหี่ยวย่น และกลัวเป็นมะเร็งเพราะแสงแดดของศตวรรษที่ 21 ครีมกันแดดจึงถูกโหมประโคมให้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของสาวไทย ในฐานะอุปกรณ์สู้แดดอย่างเป็นทางการมาสัก 3-4 ทศวรรษได้ และยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ที่โลกร้อนขึ้นอย่างรู้สึกได้ ด้วยความเชื่อที่ว่าครีมกันแดดช่วยป้องกันไม่ให้แสงแดดทำอันตรายต่อผิวหนัง และที่สำคัญคือไม่ทำให้ดำ!เราอาจแบ่งครีมกันแดดออกเป็น 2 แบบ คือ ครีมกันแดดแบบเคมี (chemical sunscreen) ซึ่งเป็นสินค้าส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ในท้องตลาดเมืองไทย กับครีมกันแดดแบบกายภาพ (physical sunscreen)

ครีมกันแดดแบบเคมี หรือที่เรียกกันว่า “ครีมกันแดดแบบดั้งเดิม” ทำงานด้วยการดูดซับแสง UVA และ UVB ไว้ ไม่ให้ทะลุถึงชั้นผิวหนัง แต่ครีมประเภทนี้มีสารเคมีและวัตถุกันเสียหลายอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ตั้งแต่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง ผื่นแพ้ รบกวนฮอร์โมนในร่างกาย เป็นพิษต่อตับ มีผลต่อระบบประสาท บางชนิดแตกตัวเมื่อถูกแสงอาทิตย์และอาจก่อให้เกิดมะเร็ง ไปจนถึงทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ด้วย

 ผู้บริโภคจึงมักหันมาใช้ครีมกันแดดแบบกายภาพ ซึ่งมีส่วนประกอบเช่น Zinc oxide กับ Titanium dioxide ที่ทำงานเหมือนตัวสะท้อนแสงออกไปจากผิว เมื่อทาครีมกันแดดชนิดนี้ ผิวเราจึงดูขาวเวอร์ๆ ทำให้หลายคนถอดใจไม่ค่อยอยากใช้

 เว็บไซต์เพื่อสิ่งแวดล้อม grist.org เคยรายงานว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของครีมกันแดด 922 ชนิดในท้องตลาด ไม่ได้ช่วยป้องกันผิวจากแสงแดดอย่างที่โฆษณา ซ้ำยังเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย พร้อมกับแนะนำว่า ครีมกันแดดที่ดีควร “ดีต่อเรา ดีต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ได้ผลจริง” นั่นคือ

  1. เลือกใช้ครีมที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป ตัวเลข SPF บอกถึงความนานในการอยู่กลางแจ้ง เช่น ถ้าผิวเริ่มแดงเมื่อผ่านไป 20 นาที ครีมที่มี SPF 30 ก็ควรป้องกันผิวได้นานขึ้น 30 เท่า (เช่น 10 ชั่วโมง)
  2. เลือกครีมที่ป้องกันทั้ง UVA และ UVB
  3. หลีกเลี่ยงครีมที่มี oxybenzone และ fragrance เป็นส่วนประกอบ อย่างแรกอาจทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนอย่างหลัง ส่งผลเสียหายต่อสุขภาพหลายอย่าง ตั้งแต่ทำให้เกิดภูมิแพ้ ทำลายตับ ทำให้ฮอร์โมนแปรปรวน ฯลฯ (ที่จริงยังมีอีกหลายตัวที่เป็นพิษต่อร่างกายนะ เช่น PABA, Octocrylene, Butyl methoxydibenzoylmethane, Isotridecyl salicylate, Octyl salicylate, Potassium Hydroxide และอื่นๆ อีกหลายชนิด)
  4. มองหาครีมที่ใช้ Titanium dioxide และ/หรือ Zinc oxide ที่ช่วยสะท้อนแสงแดดออกไป แทนที่จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่จะปรากฏเป็นชั้นสีขาวบนผิวของเรา
  5. ถ้าหากจะลงเล่นน้ำทะเล ลองเลือกครีมที่มีส่วนผสมที่ทำจากพืช ไม่เป็นอันตรายต่อปะการัง รู้ไหมล่ะว่า ทุกปีท้องทะเลต้องรองรับครีมกันแดดมากถึง 4,000-6,000 ตัน ซึ่งมีส่วนที่ทำให้ปะการังฟอกขาว
  6. ลองดูรายชื่อครีมกันแดดจากองค์กรที่ทำวิจัยเรื่องครีมกันแดด เช่น www.ewg.org/2010sunscreen/finding-the-best-sunscreens (แต่ว่าส่วนใหญ่ก็ไม่มีขายในเมืองไทย)
  7. ได้โปรดอย่าลืมว่า ครีมกันแดดเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการปกป้องผิวเท่านั้น ลองหาผ้าคลุมเก๋ๆ แว่นตาที่กัน UV ได้ดี หมวกปีกกว้าง และร่มใช้ดู จะช่วยได้มาก
  8. หลีกเลี่ยงการออกแดดตั้งแต่หลัง 10 โมง ถึง 4 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่แดดแรงที่สุด – ซึ่งถ้าเป็นเมืองไทย ก็ควรจะก่อนและหลังจากนั้นนะ เช่น หลัง 9 โมง ถึง 5 โมงเย็น นอก

จากนี้ ป้าอยากเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยว่า

  • ครีมกันแดด (และเครื่องสำอางอื่น) ที่เป็น “นาโน” ซึ่งจะมีโมเลกุลเล็กมากมายจนแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนัง และแพร่ไปตามกระแสโลหิตได้ง่ายๆ นั้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่เรายังไม่รู้ ไม่ใช่แค่ครีมกันแดดแบบเคมีเท่านั้นนะ แม้แต่ครีมกันแดดแบบกายภาพที่เป็นนาโน ก็อาจส่งผลต่อฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์ได้ ถึงมันจะปกป้องเราจากแสงแดดได้ดีกว่าก็เถอะ
  • เมื่อครีมกันแดดมากมายเป็นอันตราย ต่อสุขภาพมนุษย์แล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และระบบนิเวศด้วยเหมือนกัน ถึงยังไม่มีการศึกษามากนัก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ตรวจพบสารป้องกัน UV ในแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรทั่วโลกแล้ว และพบเข้มข้นมากในบริเวณใกล้แหล่งน้ำทิ้ง โดยสารหลายตัวเป็นพิษต่อสัตว์
  • แม้ Titanium dioxide และ Zinc oxide จะปลอดภัย (กว่า) สำหรับมนุษย์ แต่ก็เป็นพิษต่อสัตว์น้ำและสาหร่ายบางชนิด ทั้งนี้ยังไม่นับการทำเหมืองเพื่อนำแร่ธาตุเหล่านี้มาใช้อีก
  • เครื่องสำอางแบบนาโน ใช้พลังงานในการผลิตมากกว่า ใช้ตัวทำละลายมากกว่า ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอางไม่ค่อยอยากบอกใคร

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางพัฒนาสินค้าออกมามากมายหลายชนิด และไปไกลเกินกว่าที่เราจะรู้ว่ามันส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน เป็นความจริงที่ผู้บริโภคไม่ค่อยอยากฟัง และอุตสาหกรรมเองก็อยากจะหุบปากไว้ และสำหรับสาธุชนผู้รักสัตว์ โปรดพึงสดับว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้ทำให้สัตว์ทดลองชนิดต่างๆ อย่างกระต่ายและหนูตะเภา ที่ต้องทุกข์ทรมานจากการทดสอบเครื่องสำอาง บาดเจ็บ และตายลงเป็นล้านตัว เพื่อความงามของมนุษย์ ทั้งที่จริงแล้ว มีมากมายหลายกรณีที่ปฏิกิริยาจากร่างกายคนและสัตว์แตกต่างกันมาก และการทดลองในสัตว์ใช้ไม่ได้จริง กระต่ายที่ถูกขังกรงแออัดโผล่ออกมาแค่หัว จะถูกป้ายเครื่องสำอางที่ขอบตาจนระคายเคือง เป็นแผล และถึงขั้นตาบอด มีรายงานว่ามันร้องอย่างเจ็บปวดทุกครั้งที่ถูกป้ายตา และพยายามหนีออกจากช่องเล็กๆ ที่มันอยู่จนคอหัก ส่วนหนูตะเภาถูกใช้ทดสอบอาการแพ้และผื่นคัน เครื่องสำอางแต่ละชนิดทำให้สัตว์ทรมานจากอาการอักเสบ บวม เป็นพิษต่อตับ เลือดออกทางทวารต่างๆ เป็นมะเร็ง ฯลฯ และตายไปในที่สุด

ผู้สนใจอาจเข้าไปดูรายชื่อเครื่องสำอางยี่ห้อที่เป็นมิตรกับสัตว์ได้ที่ www.leapingbunny.org/shopping.php

น่าเสียดายที่ครีมกันแดดและเครื่องสำอางเกือบทั้งหมดที่ขายในเมืองไทย โดยเฉพาะจากบริษัทขนาดใหญ่ ยังใช้การทดลองกับสัตว์แทบทั้งนั้น

ถ้าใครอยากรู้ว่า เครื่องสำอางยี่ห้อไหนเป็นมิตรกับสัตว์บ้าง ลองมองหาเครื่องหมายที่ระบุว่า “against animal testing” “not test on animals” หรือ “non animal testing” ดูได้จ้า

สงสารสัตว์ คิดใหม่ทำใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันเถอะค่ะ

 

 

 

 

 

http://www.greenworld.or.th/relax/forum/1292

ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต