ลดความอ้วนด้วยหลักแห่งโยคะ

โยคะ คือศาสตร์ที่ว่าด้วยวิถีชีวิตอย่างเป็นองค์รวม การปฏิบัติโยคะ ก็คือ การฝึกฝนตนเอง การสร้างวินัยในตนเอง เป้าหมายหลักของโยคะ คือ การพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดเพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งหลายทั้ง ปวง จิตต่างหากคือตัวการสำคัญที่โยคะอยากจะจัดการควบคุม ในขณะฝึก ปฏิบัติโยคะ แน่นอนว่ากายเป็นองค์ประกอบพื้นฐานให้จิตใจทำงาน ก็ได้รับการจัดการควบคุมไปด้วย แต่เราต้องตระหนักว่า เรากำลังมุ่งฝึกจิตเป็นสำคัญ โดยประโยชน์ที่เกิดกับกายนั้นเป็นเพียง “ผลพลอยได้ “ หาใช่เป้าหมายไม่

 

เราขออนุญาตเปรียบเทียบคนที่ฝึกโยคะเพื่อหวังลดไขมันส่วนเกินของหน้าท้องนั้นคือการ ขี่ช้างจับตั๊กแตน โยคะ เป็นศาสตร์อันยิ่งใหญ่เปรียบได้ดั่งพระยาช้างสาร ช้างตัวนี้เอาไว้รบทัพจับศึก ซึ่งก็คือการต่อกรกับจิตของเรานั้นเอง ซึ่งผู้ที่ขี่ช้างโดยไม่หวังออกรบ (กับจิต ) กลับเพียงขี่มันไปทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ( กำจัดไขมันหน้าท้อง ) ก็คือไปจับตั๊กแตนเท่านั้น ทั้ง นี้ทั้งนั้น หาได้ต้องการจะตำหนิให้เสียกำลังใจแต่อย่างใดไม่ เราเองก็ชื่นชมคนที่ฝึกโยคะและปรารถนาที่จะเห็นประชาชนไทยฝึกโยคะกันอย่าง สม่ำเสมอโดยทั่วหน้า เพียงแต่เราอยากจะเน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงของโยคะ ย้ำถึงประโยชน์อันแท้จริงของศาสตร์นี้ เพื่อเอื้อให้ผู้ปฏิบัติได้รับผลตามที่ควรจะเป็นอย่างเต็มที่นั้นเอง

และแน่นอนโยคะประกอบด้วยเทคนิคอันหลากหลายที่จะดูแล ใจ- กาย รวมทั้งความอ้วนของเราได้

เทคนิคที่ 1 การศึกษาตนเอง สวัสดิยายะ ( Svadhyaya ) เสน่ห์ ของโยคะคือ การพาเราไปสู่เป้าหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ( คือการหลุดพ้น ) อย่างเป็นขั้นตอน อย่างเป็นรูปธรรมและง่าย แม้โยคะต้องการที่จะควบคุมจิต – กายของตน แต่ก็แนะนำผู้ปฏิบัติให้เริ่มต้นจากพื้นฐาน ทราบหรือไม่ว่าก่อนการฝึกท่าโยคะเราควรศึกษาตนเอง ซึ่งระบุเป็น ๑ ใน ๕ ข้อควรปฏิบัติ ของมรรคที่ ๒ แห่งโยคะ ( ท่าโยคะอาสนะนั้นอยู่ในมรรคที่ ๓ ) โยคี ผู้ปฏิบัติโยคะนั้นต้องหมั่นศึกษาตนเอง และควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง กล่าวคือ ต้องมีความเข้าใจว่ากลไกลอวัยวะระบบต่างๆ ภายในร่างกายของเราทำงานอย่างไร ตำราระบุว่าต้องมี ความรู้เหล่านี้ก่อนอายุ ๓๐ ปีด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามผู้ที่เพิ่งมาเริ่มสนใจโยคะเอาตอนอายุมากก็ไม่สายเกินไปที่จะ หันมาใส่ใจศึกษารู้จักตนเอง หัวใจสำคัญของการศึกษาตนเองน่าจะเป็น ทัศนคติของเราต่อการเข้าใจตนเอง โลกทุกวันนี้วิทยากสนทางการแพทย์เจริญรุดหน้าไปอย่างมหาศาลจนทำให้ประชาชน ทั่วไป “ละเลย “ ไม่ใส่ใจตนเองผลักภารกิจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองไปไว้ในมือหมอล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็พึ่งหมอ หากพิจารณาให้ดีเราจะพบว่าการดูแลตนเองเป็นหน้าที่ของตนเองโดยแท้ จะมีใครรู้จักเราดีเท่าเรา จะมีใครรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไรดีเท่าเรา หมอนั้นควรจะมีเอาไว้ใช้ในยามเหนือบ่ากว่าแรงจริงๆ เท่านั้น

 

ดังนั้น การปฏิบัติโยคะ ที่ฝากคือ หมั่นใส่ใจในตนเอง หมั่นศึกษาทำความเข้าใจในระบบอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายของเราเอง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความอ้วนควรศึกษาหาความรู้ต่างๆที่มีอยู่มากมาย เช่น หนังสือ รายการสารคดีทางโทรทัศน์ ทางวิทยุ นิตยสาร เป็นต้น ( การอ่านหมอชาวบ้านก็เป็นสวัสดิยายะอย่างหนึ่ง ) ศึกษาหัวข้อโดยตรง เช่น โรคอ้วน ระบบย่อยอาหาร รวมถึงหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าอาหารเป็นต้น หมั่นตั้งคำถามเพื่อจะลองหาคำตอบ เช่น เรากินอาหารเข้าไปทำไม อาหารจะเสริมสร้างร่างกายของเราได้อย่างไร ทำไมเราถึงหิว ความหิวมีกี่ชนิด หิวหลอกป็นอย่างไร อะไรทำให้เรากินทั้งๆ ที่ไม่ได้หิว เป็นต้น ไม่เพียงศึกษาทฤษฐีเท่านั้น การปฏิบัติก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือ เรียนรู้ตนเอง “ด้วยตนเอง “ แม้ตำราความรู้ต่างๆ ภายนอกมีอยู่มากมาย แต่โยคี ( ผู้ฝึกโยคะ ) ต้องไม่ละเลยในการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นความรู้อันแท้จริง เมื่อเรารับรู้ข้อมูลจากภายนอกแล้วก็นำมาเทียบเคียง เปรียบเทียบกับตัวเราจริง ๆ วิเคราะห์พิจารณาจนเกิด “ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ “ หรือที่เราเรียกว่า “ ปัญญารู้เห็นตามที่เป็นจริง “  ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งในการที่เราจะดูแลตนเอง ไม่ว่าในแง่มุมใด ทางกาย ทางจิต รวมทั้งการลดความอ้วน

 

พูดง่ายๆ ก็คือว่า เราจะจัดการตนเองได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่รู้เลยว่า ในตัวเราเองนั้น อะไรเป็นอะไร ความอ้วนสัมพันธ์โดยตรงกับอาหาร ดังนั้นเวลาทำความเข้าใจตนเองต่อเรื่องความอ้วน เราก็จะพิจารณากันที่ระบบย่อยอาหาร รวมถึงการดูดซึม สารอาหารด้วย เมื่อ เอ่ยถึงระบบย่อยอาหาร หลายคนมักนึก ถึงกระเพาะอาหารเป็นสิ่งแรก กระเพาะอาหารของมนุษย์ทำงานโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ นอกเหนือการ ควบคุมของตัวเอง ทำให้คนเป็นจำนวนมาก เชื่อว่า เราไม่สามารถควบคุมเรื่องความอ้วนได้ ใครก็ตามที่ เชื่อเช่นนี้ ก็ยากที่จะควบคุมความอ้วนของตนเองได้ เพราะเริ่มต้นก็แพ้เสียแล้ว ระบบ ย่อยอาหารเริ่มต้นที่ปากต่างหาก อวัยวะ ส่วนแรกในระบบย่อยอาหารของมนุษย์คือฟัน และการย่อยอาหารส่วนแรกของการกินอาหารคือการเคี้ยว โชคดีเสียนี่กระไรที่การเคี้ยวอยู่ในระบบประสาท ควบคุมได้ การเคี้ยวมี บทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบ ย่อยอาหาร การเคี้ยวที่ดี การเคี้ยวอย่างเหมาะสม เอื้อต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร เอื้อต่อสุขภาพตนเอง และเอื้อต่อการควบคุมความอ้วน ก่อนที่จะกล่าว ถึงการเคี้ยวที่เหมาะสม

 

ลองมาพิจารณาการเคี้ยวที่ไม่เหมาะสมกันก่อนก็แล้วกัน ทุกวันนี้การกินอาหารของมนุษย์เปลี่ยนรูปแบบไปมาก ในสมัยโบราณการหาอาหารประกอบด้วยกระ-บวนการต่างๆ มากมาย ทั้งกสิกรรม ทั้งการล่า กว่า จะได้กินแต่ละมื้อนั้นยากลำบาก ทำให้ผู้กินมีความประณีต พิถีพิถันในการกิน แต่ในทุกวันนี้ การกินอาหารเป็นเรื่องที่สะดวกสบาย จนผู้กินจำนวนมากไม่ใส่ใจการกินแต่อย่างใด หลายคนกินอาหารไป อ่านหนังสือไป บ้างกินไปคุยไป บางคนเร่งรีบมาก กินอาหารด้วยความเร็ว เพื่อไปทำธุระอื่น ลักษณะการกินเหล่านี้ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารก็คือ ขาดการเคี้ยวที่เหมาะสม ดัง นั้น

 

เทคนิคที่ 2 โยคะที่แนะนำเพื่อจัดการกับความอ้วนก็คือ การมีสติรู้อยู่กับการเคี้ยวอาหาร และการเคี้ยวอาหารด้วยจำนวนครั้งที่เพียง พอ กล่าวคือ ในอาหาร ๑ คำ ให้เคี้ยวอย่างน้อย ๓๐ ครั้ง ก่อนที่จะกลืนลงสู่กระเพาะอาหาร การเคี้ยวอาหาร ๓๐ ครั้งต่อคำ เป็นการให้เวลาเพียงพอที่จะทำให้อาหารคำนั้น ถูกบด ฉีก จน ละเอียดในปากก่อนจะกลืน ตามหน้าที่ของปากและ ฟัน (อย่าลืมว่ากระเพาะอาหารไม่มีฟันที่จะบดฉีกอาหาร) คนที่ไม่นิยมการนับ ให้ใช้หลักว่า อาหารที่ อยู่ในปากนั้นต้องถูกเคี้ยวจนทั้งหมดมีลักษณะเป็นของเหลวเสียก่อนที่จะกลืน มิใช่กลืนอาหารทั้งที่มัน ยังมีลักษณะเป็นเม็ดข้าว เป็นชิ้นผัก หรือเป็นชิ้นเนื้อ อยู่เลย การเคี้ยวจนอาหารเป็นของเหลว ช่วยจำกัดปริมาณน้ำขณะกินให้พอดี ไม่มากเกินความจำเป็น ของร่างกาย ซึ่งไปลดทอนประสิทธิภาพในการย่อยอาหาร ที่ สำคัญมาก การเคี้ยวอาหารอย่างน้อย ๓๐ ครั้งต่อคำ ทำให้น้ำลายมีเวลาทำหน้าที่หลักของมัน คือย่อยอาหารจำพวกแป้งได้อย่างเพียงพอ การเคี้ยว นานครั้งนี้ ทำให้ร่างกายดูดซึมคาร์โบไฮเดรตได้เร็ว ขึ้น ส่งผลให้เรารู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น เป็นการยับยั้งไม่ให้ กินอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อความอ้วน

 

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจมีคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราเคี้ยวอาหารมากกว่าคำละ ๓๐ ครั้ง ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้เลย และยิ่งเคี้ยวมากเท่าใด ยิ่งดีต่อตนเองมากเท่านั้น ลองดูตารางข้างล่างนี้ เรา ขอย้ำว่า การปฏิบัติโยคะไม่ใช่อิทธิฤทธิ์ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับพิสดาร ในทางตรงกันข้าม การ ฝึกโยคะคือ วิถีปกติแห่งความเป็นมนุษย์ โดยทำอย่างไรให้วิถีนั้นเป็นไปอย่างมีสติ เป็นไปอย่างรู้ เท่าทันธรรมชาติ (ธรรมชาติของระบบย่อยอาหาร ธรรมชาติของอาหาร) เป็นไปอย่างสมดุล และความยากของโยคะมิได้อยู่ที่การดัดร่างกายให้ดูพิลึก แต่อยู่ที่การฝึกให้สติรวม รู้อยู่ตลอดเวลา การมี สติขณะที่ฝึกท่าโยคะนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

 

แต่สำหรับ กรณีของการใช้เทคนิคโยคะมาจัดการความอ้วนนั้น การมีสติรู้ขณะที่เคี้ยวอาหารสำคัญกว่า สำคัญกว่ามาก ดังนั้น การฝึกโยคะที่ถูกต้อง คือ การมีความเข้าใจถูกต้อง (ย้อนกลับไปเทคนิค สวัสดิยายะ ของ คราวที่แล้ว) ประกอบกับการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นนิสัย เมื่อเราเข้าใจตามนี้ เราก็จะพบว่า ในเบื้องต้น เหตุที่จะชี้ขาดความสำเร็จของการควบคุม ตนเอง การจัดการความอ้วนจึงอยู่ที่ตนเองและตนเองเท่านั้น หาได้อยู่ที่อาสนะท่าใด ยาขนานใด เราได้คุยกันไปถึงปัจจัยพื้นฐานของการดูแลสุขภาพในการควบคุมความอ้วน ก็คือ” ศึกษาเข้าใจตนเอง” ไปในบทแรก จากนั้นเราได้คุยกันถึงวิถีปฏิบัติที่สำคัญยิ่งต่อการลดความอ้วน อันได้แก่” การเคี้ยวอย่างน้อย ๓๐ ครั้งต่อคำ” ไปแล้ว

 

คราวนี้เรามาคุยกันต่อเรื่องทัศนคติของโยคะต่อการกิน ตามตำราโยคะโบราณ โดยมีประเด็น ที่น่าสนใจอยู่ ๒ ประการ ดังนี้

ประการที่ 1  ปริมาณอาหาร โยคะแนะนำให้เราแบ่งกระเพาะอาหาร เป็น ๔ ส่วน เวลากินให้เติมอาหารที่เป็นของแข็งเป็นกากใย ๒ ใน ๔ ส่วน หรือครึ่งกระเพาะให้เติมอาหารที่เป็น ของเหลว รวมทั้งน้ำ ๑ ใน ๔ ส่วน ที่เหลืออีก ๑ ใน ๔ ส่วน นั้นปล่อยว่างไว้สำหรับอากาศ กล่าวคือ โยคะแนะนำว่า “อย่ากินจนอิ่ม” การเหลือพื้นที่ว่าง ไว้ในกระเพาะ ๑ ใน ๔ ส่วนเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะเป็นการกันพื้นที่ไว้สำหรับให้กระเพาะสามารถย่อยอาหารได้โดยสะดวกนั่น เอง คิดว่าทุกคนคงจำความรู้สึกอึดอัดทรมานจากความอิ่มตื้อได้ดี ซึ่งสำหรับโยคะแล้ว การกินอาหารจนแน่นท้องเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่งทีเดียว ข้อแนะนำที่เป็นรูปธรรมคือ ให้เราฝึกหยุดกินก่อนจะเริ่มรู้สึกอิ่ม เช่น เราเคยตักอาหารกิน ๑๐ ช้อนแล้วรู้สึกอิ่ม ก็ให้กินถึงช้อนที่ ๗ หรือ ๘ แล้วหยุด เมื่อตระหนักในข้อเท็จจริงนี้แล้ว เราหวังว่าผู้อ่านที่ชอบไปกินอาหารแบบบุฟเฟต์ (คือจ่ายสตางค์ในจำนวน ที่ทางร้านกำหนด แล้วกินอาหารได้ทุกอย่างโดยไม่จำกัด) คงจะไตร่ตรองเสียใหม่ บางครั้งเราไปมองในเชิงผลประโยชน์ จ่ายสตางค์ไปเท่านี้ อย่างนี้ฉันต้องกินให้คุ้ม ยิ่งกินมากเท่าไร ยิ่งกระหยิ่มใจ รู้สึกว่าเราได้เปรียบ หากพิจารณาใน แง่ของสุขภาพของระบบย่อยอาหารเราแล้ว ขอยืนยันว่าไม่คุ้มเลย อีกกรณีหนึ่งที่พบเห็นอยู่ทั่วไปคือ กิจกรรมแข่งกันกิน ซึ่งทางผู้จัดกิจกรรมที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่หวังเพียงความ สนุกสนาน สร้างความบันเทิง เพื่อนๆ ที่เชียร์ก็ส่งเสริมกันเต็มที่ ผู้แข่งขันก็ฮึกเหิมเต็มที่เช่นกัน บ้างทำกันเป็นงานเป็นการ มีการถ่ายทอดออกทางโทรทัศน์เลย ที่น่าสังเกตคือตอนแข่งก็สนุกสนานกันไป แต่ไม่เห็นเคยมีใครตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับผู้เข้าแข่ง หลังกินเสร็จแล้ว?

 

ประการที่2 ประสิทธิภาพในการย่อย  ถึงแม้โยคะจะไม่ได้กล่าวถึงการกินมากนัก แต่โยคะกลับพูดถึงการย่อย พูดถึงประสิทธิภาพของการย่อยไว้อย่างพิสดาร โยคะเชื่อว่า ของที่กินนั้นไม่สำคัญ เท่าของที่ย่อย (และดูดซึมไปเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย) โยคะถึงกับกล่าวว่า อาหารที่ย่อยได้คืออาหารที่ดี และอาหารที่ย่อยไม่ได้หรือไม่ทันได้ย่อยคืออาหารที่เลว หรืออาหารที่เป็นพิษ ด้วยทัศนคติเช่นนี้ โยคะจึงมีเทคนิคต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบย่อยอาหารของเราให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอย่างมากมาย

 

ท่าโยคะอาสนะที่นิยมฝึกกันเป็นที่แพร่หลายก็เอื้อต่อระบบย่อยอาหารเป็นอย่าง มาก (ขอย้ำว่า ท่าโยคะอาสนะไม่ใช่การออกกำลังกาย) เรามาลองพิจารณาข้อความในตำราโยคะหฐปฏิปิกะ ดังนี้ มยุราอาสนะ (ท่านกยูง) จะค่อยๆ ขจัดโรคต่างๆ ทั้งในม้ามและในกระเพาะอาหาร ปัดเป่าความผิดปกติของ น้ำย่อย ปรับกรดย่อยอาหารให้พอเหมาะพอดี ทำให้กระบวนการย่อยอาหารดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะย่อยอาหารปกติ ย่อยอาหารที่มากเกิน ตลอดจนย่อยได้แม้กระทั่งพิษ เมื่อตระหนักถึงคุณภาพการย่อย ว่ามีความสำคัญไม่แพ้คุณภาพของอาหาร เราก็จะใส่ใจต่อ การย่อยไปพร้อมๆ กับการกิน

 

กล่าวคือ เลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์พร้อมๆ กับการดูแลสุขภาพ ดูแลระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้เป็นปกติ จากข้อมูลทั้ง ๒ ข้างต้น ผู้ใส่ใจในสุขภาพของตนก็จะตระหนักในเรื่ององค์ประกอบของการกิน มองเห็นภาพรวมในการกินมากขึ้น ทำให้เรามีสุขภาพที่เป็นปกติ ตลอดจนมีน้ำหนักตัวที่เป็นปกตินั่นเอง เราได้คุยกันไปถึงวิธีของโยคะสำหรับจัดการกับความอ้วนอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่เรื่องของการมีทัศนคติที่ถูกต้อง เรื่องของการเข้าใจกลไกระบบย่อยอาหารของตนเอง โดยพิถีพิถันกับการเคี้ยว ตลอดจนเรื่องของการให้ความใส่ใจต่อระบบย่อยอาหารและการดูดซึม

 

คราวนี้เรามาดูวิธีจัดการความอ้วน ตามทัศนคติของตำรา Yoga for Common Ailments ซึ่งกล่าวไว้ว่า วิธีลดน้ำหนักส่วนเกินนั้นง่ายนิดเดียว กินน้อยลงและออกกำลังกายให้มากขึ้น คนที่อ้วนมาแต่เด็กหรือคนที่ พบว่าตัวเองเป็นคนอ้วนง่าย อาจจะพบว่าการลดน้ำหนักส่วนเกินของตนเป็นเรื่องยาก แต่ก็อยากชี้ให้เห็นว่า หากมีความพยายาม ผลสำเร็จก็จะตามมาอย่างแน่นอน เป็นคณิตศาสตร์ที่ไม่ซับซ้อนเลย คือ นำเข้าพลังงาน (อาหาร) อย่าให้เกินไปกว่าพลังงานที่เราใช้ ทั้งใช้ไปในการทำงาน ใช้ ไปในกิจวัตรประจำวัน และใช้ไปในการออกกำลังกาย มีคนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อ้วนเพราะความผิดปกติของฮอร์โมน ในกรณีนั้นจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์และใช้ยาช่วย อาหารที่แคลอรีต่ำ กากใยสูง เหมาะสำหรับการลดน้ำหนัก แต่การจะหันมากินอาหารที่ว่าให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย เนื่องเพราะเราเคยชินกับการกิน มากนั่นเอง การกินมากเกิดจากจิตที่โหยหาความสุขจากการกิน ประเด็นนี้โยคะช่วยได้

 

โยคะช่วยควบคุมนิสัยการกิน เพราะโยคะช่วยให้ผู้ฝึกมีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น เทคนิคการผ่อนคลายของโยคะก็ช่วยผ่อนคลายจิตใจ ผ่อนคลายความอยากอาหาร เมื่อใจอยากกิน บอกตัวเองว่า “เอาละ เจ้าร่างกาย ฉันกำลังจะกิน แต่จะรีบไปไหน? ค่อยๆ ช้าๆ กินอาหารด้วยความปีติ” สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ผ่อนลมหายใจออกยาว ๕ รอบ แล้วจึงค่อยๆ เริ่มกินทีละคำๆ ดื่มด่ำในรสชาติอย่าง พินิจพิจารณา ระหว่างที่กิน คอยบอกตัวเองว่า “การ กินอาหารนี้ ทำให้ฉันมีความสุข โดยเฉพาะในส่วนลึกที่จิตของฉันมันแอบพอใจอย่างเงียบๆ ดังนั้น ฉันจะกินช้าๆ รับรู้สภาวะ จิตของฉันที่กำลังพึงพอใจ ฉันจะไม่กินโดยเร็ว” นอก จากการปฏิบัติตัวดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การฝึกท่าอาสนะก็เป็นการดูแลร่างกายที่เหมาะสำหรับคนอ้วน เพราะท่าอาสนะนั้นละมุนละไม นุ่มนวล ป้องกันความเหนื่อยล้าจากการทำ ป้องกันการบาดเจ็บ ทั้งไม่สร้างภาระ ให้กับการทำงานของหัวใจ คนอ้วนทำท่าอาสนะได้ทุกท่า ตราบที่ไม่รู้สึกว่ามันยากเกินกว่าที่ตนทำได้

 credit  http://www.doctor.or.th
http://yogachumphon.com/index.php?option=com_content&view=article&id=118&Itemid=166