ธนาคารต้นไม้ ช่วยในการลดโลกร้อนและช่วยเกษตรกรปลดหนี้

เป็นเรื่องเก่าหน่อยแล้ว แต่เป็นแนวคิดที่ดีมากๆ

ปีงบประมาณ 2551

ธนาคารต้นไม้ ช่วยในการลดโลกร้อนและช่วยเกษตรกรปลดหนี้
ธัญญลักษณ์ เหล็กพิมาย

สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกต่างตื่นตัวต่อสถานการณ์ภาวะโลกร้อนและผลกระทบมากยิ่ง ขึ้น โดยหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนก็ได้พยายามคิดหาโครงการและแนวทางในการแก้ไข ปัญหานี้มากขึ้นด้วย โดยแนวทางหนึ่งที่ถูกรณรงค์ส่งเสริมมากที่สุด ก็น่าจะเป็น การรณรงค์ให้ผู้คนช่วยกันปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ เกิดโลกร้อนนั่นเองค่ะ แต่การรณรงค์เชิญชวนอย่างเดียวก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่หากมีเรื่องของผลตอบแทนหรือรายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็น่าจะมีมากขึ้นนะคะ ซึ่งแนวคิดในการสร้างรายได้จากการปลูกต้นไม้ก็เกิดขึ้นแล้วในบ้านเราค่ะ นั่นก็คือ การจัดตั้งธนาคารต้นไม้

ธนาคารต้นไม้เกิดจากแนวคิดของ ร.ต.ไสว แสงสว่าง ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาละแม จ.ชุมพร และผู้จัดการธนาคารต้นไม้สำนักงานใหญ่ เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทบุคคล ประจำปี 2550 เนื่องจากเขาได้พบเห็นปัญหาหนี้สินต่าง ๆ ของเกษตรกรในพื้นที่อยู่เสมอ โดยเฉพาะในครั้งที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากผลของพายุเกย์ถล่มภาคใต้ ในปี 2532 ทำให้เกษตรกรหลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ติดหนี้ ธ.ก.ส.เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ต้องประสบกับปัญหาผลผลิตตกต่ำ ขายได้สินค้าไม่ได้ราคา ตลอดจนปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ด้วยความตั้งใจที่อยากจะช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านั้นให้แก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน และฟื้นฟูความเป็นอยู่ได้ เขาจึงเสนอโครงการ “ปลูกต้นไม้ใช้หนี้” ขึ้น โดยธนาคารต้นไม้ หรือ TREE BANK นี้เป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “การปลูกต้นไม้ใช้หนี้” ของคณะกรรมการผู้นำชุมชนแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ภายใต้ยุทธศาสตร์การพึ่งตนเองและความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย พลังงาน อาหารและยา มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาโลกร้อนและปัญหาหนี้สินของเกษตรกร และเป็นการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใน ระยะยาว ซึ่งรูปแบบการดำเนินงาน คือ ให้สมาชิกปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเอง โดยเน้นให้เก็บกล้าไม้ที่มีอยู่ในชุมชนนำมาเพาะชำแล้วแจกจ่ายกันไปปลูก อีกส่วนหนึ่งก็นำไปจำหน่ายในราคาถูก เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนของกลุ่ม โดยหลังจากชาวบ้านปลูกต้นไม้ไปได้ 6 เดือนแล้ว คณะกรรมการชุมชนจะออกไปตรวจแปลงปลูกต้นไม้ และจะบันทึกในสมุด (คล้ายสมุดบัญชีเงินฝาก) ของสมาชิกแต่ละคน โดยปีแรก จะให้มูลค่าต้นไม้ที่ปลูกไว้ต้นละ 100 บาท ปีที่สอง ราคาต้นละ 200 บาท และจะเพิ่มค่าไปเรื่อย ๆ ทุกปี เท่ากับว่าต้นไม้ที่ปลูกจะเป็นเหมือนเงินออม เพราะมูลค่าของต้นไม้จะถูกบันทึกไว้ทุกปีตามการเติบโตของต้นไม้ จนกว่าต้นไม้จะมีอายุถึงเวลาตัดหรือโค่นไปทำประโยชน์ต่าง ๆ ได้ ชาวบ้านก็จะต้องไปขออนุญาตตัดโค่นจากธนาคาร เป็นการแปรไม้ให้เป็นทรัพย์และนำมาใช้หนี้กับ ธ.ก.ส. ได้ค่ะ

ปัจจุบันธนาคารต้นไม้มีสาขา ทั้งหมด 53 สาขา สมาชิกเกือบ 10,000 คน ปลูกต้นไปแล้วกว่า 2 ล้านต้น โดยมีเป้าหมายปลูกต้นไม้ให้ได้ 9,999,999 ต้น เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยค่ะ

ท่านผู้ฟังคะ เห็นไหมคะว่าการปลูกต้นไม้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน ช่วยสร้างผืนป่าให้กับประเทศของเราและโลกของเราได้เท่านั้นนะคะ แต่ยังช่วยสร้างรายได้ให้เราในอนาคตได้ด้วย ดังนั้น ตอนนี้ท่านอย่าลืมรีบไปสมัครเป็นสมาชิกของธนาคารต้นไม้ใกล้บ้านท่าน แล้วรีบปลูกต้นไม้กันเยอะ ๆ นะคะ อนาคตท่านอาจจะเป็นเศรษฐีจากการปลูกต้นไม้ก็ได้ค่ะ

แหล่งอ้างอิง
ทางเลือกแห่งความหวัง : ธนาคารต้นไม้ ปลูกต้นไม้ใช้หนี้ (ให้โลก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.
sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=845 (วันที่ค้นข้อมูล : 12 มิถุนายน 2551).
ธกส.จุดประกายชู”ธนาคารต้นไม้”ปลดหนี้เกษตรกร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://vivaldi.cpe.ku.ac.th/~note/
newscrawler/view_news.php?id=343131 (วันที่ค้นข้อมูล : 12 มิถุนายน 2551).
ธนาคารต้นไม้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://bilom.blogspot.com/2008/01/blog-post_4204.html (วันที่ค้นข้อมูล : 12 มิถุนายน 2551).
ธนาคารต้นไม้ คืนชีวิตให้กับธรรมชาติและเกษตรกรชาวชุมพร.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.yimwhan.
com/board/show.php?user=RFAC&topic=132&Cate=1 (วันที่ค้นข้อมูล : 12 มิถุนายน 2551).
ธนาคารต้นไม้ ยิ่งปลูก ยิ่งออม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.khum.net/news-read/674230 (วันที่ค้นข้อมูล : 12 มิถุนายน 2551).
“ธนาคารต้นไม้” อีกรางวัลลูกโลกสีเขียวประเภทบุคคล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thaienv.com/th/
index.php?option=com_content&task=view&id=426&Itemid=27 (วันที่ค้นข้อมูล : 12 มิถุนายน 2551).

http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=2535