ดร. ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล
เมื่อมีภารกิจทางราชการต้องไปอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน นานถึง ๕ เดือน เพื่อสอนวิชาประวัติวรรณคดีไทย วิชาการวิเคราะห์และวิจารณ์วรรณกรรม การออกเสียงภาษาไทย ของนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และดูแลการทำภาคนิพนธ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ อีก ๑๘ คน แถมเผยแพร่วัฒนธรรมไทยกับส่งเสริมการอ่านหนังสือภาษาไทยตามโอกาสที่มี การผ่อนคลายและได้ประโยชน์อีกหลายประการด้วยกันก็คือการอ่านหนังสือ … อย่างแน่นอน
ที่ภาควิชาภาษาไทย สถาบันภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Studies University) มีตู้หนังสือภาษาไทย และที่ห้องสมุดของสถาบัน ฯ ก็มีชั้นหนังสือของภาควิชาภาษาต่าง ๆ ได้แก่ อาหรับ เปอร์เซีย อินโดนีเซีย เกาหลี และไทย เป็นขุมทรัพย์เล็ก ๆ ที่ฝุ่นได้มาอาศัยอยู่อย่างสงบสุข ข้าพเจ้าได้ไปรบกวนให้ฝุ่นฟุ้งขึ้น บางเล่มไม่เคยเห็น บางเล่มไม่เคยรู้ว่ามีจึงดีใจที่ได้เห็น และส่วนใหญ่ก็อ่านมาแล้วและคุ้นเคยกันดี
อยู่เมืองจีนควรจะรู้เรื่องจีน เท่าที่เคยอ่านมาก่อนนี้ยังเป็นเพียงกรวดทรายบางเม็ดในทะเลทรายโกบี เท่านั้น จึงต้องอ่านเติมเข้าไปอีกมาก เรื่องแรกที่ต้องสนใจคือเรื่องกิน หนังสือเล่มอื่น ๆ ว่าด้วยการกินของคนไทย มีเล่มเดียวว่าด้วยการกินของคนจีน นอกนั้นหากอยากทราบคงต้องเสาะหาในหนังสือพระราชนิพนธ์ว่าด้วยจีน ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐ เล่ม ได้เพิ่มมาอีก ๗ เล่ม
เรื่องที่ว่านั้นก็มิใช่เรื่องอาหารอื่นใด แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชา ชื่อว่า “ตำนานชาในตำราจีน” เหตุที่ข้าพเจ้าถือว่าเรื่องชาสำคัญ และสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดที่คนจีนกินหรือดื่มนั้นมีประจักษ์พยาน อันได้แก่ภาพชีวิตจริง ๆ คือคนจีนที่เดิน ๆ นั่ง ๆ หรือขึ้นรถก็ตาม ๖ ใน ๑๐ คน จะถือขวดน้ำชา หรือเสียบขวดไว้ที่เป้หรือใส่กระเป๋า แบบพร้อมที่จะดื่มไม่ว่าจะเดินทางไปไกลหรือใกล้ ขณะเรียนหรือทำงานก็มีขวดน้ำชาวางอยู่ด้วย ขวดนี้มีประโยชน์นอกเหนือจากการดื่ม คือเอามือกอดไว้หรือเอาไปแนบอกเพื่อให้อบอุ่นในฤดูหนาว ดังที่ข้าพเจ้าก็ต้องทำ เพราะห้องเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ติดเครื่องทำความอบอุ่น ข้าพเจ้าหาที่พึ่งเป็นบุคคลยังไม่ได้ จึงพึ่งขวดน้ำชาบ้าง กระเป๋าน้ำร้อนแบบประคบผู้ป่วยบ้าง และถุงเจลที่ทำให้ร้อนได้ด้วยวิธีแปลกบ้าง
ถ้าไม่ถือขวดน้ำชา ในยามไม่หนาว วัยรุ่นบางคนถือขวดน้ำชาประดิษฐ์หรือน้ำอัดลมเหมือนวัยรุ่นไทย ร้านบริการน้ำชาก็ช่างมีได้ทุกแห่ง ยกเว้นในมหาวิทยาลัย ต้องเข้าภัตตาคารใหญ่จึงจะได้ดื่มชารสเลิศและราคาสูง เพราะมิใช่แต่ว่าราคาใบชาจะสูงเท่านั้น น้ำที่ชงชาได้ก็แพง การบริการยิ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งนัก เพราะพอท่านดื่มพร่องไปหน่อย บริกรก็จะรีบเติม แต่ไม่ได้คิดเงินเพิ่มเหมือนกินน้ำมียี่ห้อตามร้านอาหารที่เมืองไทย
“ตำนานชาในตำราจีน” แปลโดยผู้รู้เรื่องจีนอย่างดี และมีพันธมิตรช่วยตรวจสอบการออกเสียงภาษาจีนให้ด้วย ท่านได้เล่าเรื่องย้อนไปถึงที่กล่าวไว้ในตำราเล่มแรกเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อน ซึ่งกล่าวถึงชาวนาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งค้นพบสมุนไพรวิเศษชนิดนี้ จักรพรรดิแต่ละองค์ในราชวงศ์ต่าง ๆ ทรงโปรดชาแบบใด อุปกรณ์ วิธีชง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับชา รวมทั้งบุคคลที่นำชามาถวาย จะได้ดีได้ร้ายก็เพราะชา ดูเอาเถิดว่าชาเป็นเรื่องของการเมืองไปด้วยเช่นกัน
บุคคลที่เขียนตำราชาคนแรกคือหลู่ ยู่ ผู้ได้สมญาว่านักบุญแห่งชา ตำรานั้นได้เป็นต้นแบบแห่งตำราในยุคหลัง ๆ ทุกเล่ม โดยเล่มนี้หวาง หลิงได้อ้างไว้หลายตอนด้วย หวาง หลิงเสนอภาพและเรื่องเกี่ยวกับชาหลายแง่มุม ทั้งศิลปะในพิธีการต่าง ๆ วัฒนธรรมโรงน้ำชา ชากับวรรณคดีและศิลปะ ศิลปะชาของชาวบ้านจีนในมณฑลต่าง ๆ ไปจนถึงอิทธิพลของชาทั่วโลก การเรียบเรียงของหวาง หลิง และการแปลของเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ นำเรื่องราวเหล่านั้นมาเสนออย่างมีชีวิตชีวา ข้อความหลายตอนทำให้ผู้อ่านต้องคิดหาความหมายที่ลึกซึ้งต่อไปอีก เช่น เรื่องน้ำที่ชงชา อาจมาจากน้ำตก แม่น้ำ และจากฝนซึ่งรองไว้อย่างที่คนไทยเรียกว่า “ฝนกลางหาว” จีนเรียก “น้ำที่ไม่มีราก” เพราะน้ำยังตกไม่ถึงพื้น ถือเป็นน้ำที่ธรรมชาติกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี
แต่ว่า … ยุค พ.ศ.๒๕๔๘ จะไปหาฝนกลางหาวที่ไหนเลิศล้ำพอจะใช้ชงชาดื่มแล้วจะรู้สึกประหนึ่งขึ้นสวรรค์ได้เล่า….ในประเทศไทย
ตอนกลาง ๆ เล่ม มีเรื่องแหล่งชาที่ดีที่สุดในจีนและในโลก แห่งหนึ่งคือเมืองหางจู ซึ่งคนไทยเรียกหางโจว ที่ซึ่งมีทะเลสาบซีหู ต้นตำนานนางพญางูขาว ข้าพเจ้าไปเดินกรำฝนอยู่ ๓ วันในเมืองนั้นในช่วงวันหยุดวันชาติจีน ๑ – ๗ ตุลาคม ๒๕๔๘ ได้ดูสารพัดดู รวมทั้งดูคนประมาณ “ล้านเจ็ด” ไปเที่ยวพร้อมกัน (เข็ดแล้วค่ะ พอ ๆ กับไปเชียงใหม่ หรือขอนแก่น หรือ ถนนข้าวสาร ในช่วงสงกรานต์นั่นเทียว) ทว่าข้าพเจ้าหาได้ไปถึงสวรรค์แห่งชาที่หางโจวไม่ ไม่ได้ไปทั้งโรงน้ำชา พิพิธภัณฑ์ชา หรือซื้อชาสักหยิบมือเดียว ก็ในเมื่อเลือกได้หนึ่งรายการในบ่ายวันหนึ่งที่ฝนตก ข้าพเจ้าเลือกไปพิพิธภัณฑ์ผ้าไหม และไม่ได้ซื้ออะไรเกี่ยวกับไหมเช่นกัน เพราะว่าแพงและไม่ตรงความจำเป็น พอมาอ่านเล่มนี้จึงยิ่งรู้ว่าน่าจะกลับไปหางโจวอีกสักที (๓ ชม.) จากเซี่ยงไฮ้ เดี๋ยวจะไม่เหมือนคนไทยนับแสนที่พากัน (แห่) ไปซื้อชานานาชนิดกระป๋องละพันบาทมาราวกับของถูก ภายหลังเห็นเที่ยวแจกกันเป็นสามารถ เพราะอะไร จะเพราะด้วยหาน้ำบริสุทธิ์อย่างน้ำพุเสือเต้นไม่ได้ด้วยหรือเปล่า
ในหนังสือกล่าวถึงบ้านคหบดีโบราณ ชื่อ ยู่ หยวน หรือที่จีนออกเสียง อี้ หยวน ในเมืองเซี่ยงไฮ้นั้น ข้าพเจ้าไปมาแล้วสองรอบ ในใจกลางเป็นบ้านและสวนงามเลิศ มีห้องหับซับซ้อนหลายชั้น เครื่องเรือนโบราณ เครื่องตกแต่งบ้านน่าชม รอบนอกซึ่งดูได้โดยไม่ต้องตีตั๋วสี่สิบหยวนเข้าไปดูเหมือนข้างในนั้น เขาทำเป็นชุมชนท่องเที่ยว มีร้านรวงขายของสารพัด ร้านน้ำชาใหญ่ร้านหนึ่งมีกาน้ำชาใหญ่เท่าโอ่งมังกรกำลังเทน้ำชาลงสู่ถ้วย ใช้ไฟฟ้าทำให้ดูประหนึ่งสายน้ำจากพวยการินลงถ้วยตลอดเวลา ก็ได้ไปถ่ายภาพไว้ ช่วงเทศกาลปูขน ก็มีปูขนโฟมตัวใหญ่สีแดงเชิญชวนอยู่หน้าร้านด้วย ข้าพเจ้าไม่ได้กินปูและไม่ได้ดื่มชาที่ร้านนั้น ได้แต่มองเข้าไปเห็นคนจีนนั่งดื่มกินกันอย่างเท่ ในร้านนี้และร้านอื่น ๆ มีขนมประกอบการดื่มให้อร่อยและอิ่มอีกหลายขนาน ทำให้หวนคำนึงถึงเครื่องจันอับที่ผู้ใหญ่ที่ดื่มชาส่งให้เด็ก ๆ กิน และบอกว่าอย่าเพิ่งดื่มชาเลย เจ้ายังเล็กอยู่ หารู้รสของดีไม่ พอเด็กน้อยนั้นเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่ได้เรียนรู้เรื่องชาสักเท่าใด นอกจากอ่านหนังสือบางเล่ม รวมทั้งเล่มนี้ซึ่งเมื่อได้ไปอ่านในดงร้านน้ำชาจริง ๆ ผสมกับจินตนาการแล้ว ข้าพเจ้าจึงรู้แน่ขึ้นไปอีกว่าการอ่านเป็นกำไรชีวิตโดยการลงทุนและลงเวลา น้อยที่สุด ความคิดของคนที่ดื่มน้ำตะไคร้นี้คงต่างจากคอชาจีนตัวจริงหลายหมื่นลี้ แต่สำหรับหนังสือนั้น ข้าพเจ้าได้ดื่มไปเรียบร้อยแล้วจึงเขียนแนะนำท่านได้
กลิ่นหอมของชากรุ่นกำจายลอดออกมาจากหนังสือ ผู้อ่านจินตนาการไปว่าเธอสวมชุดไหมสีชมพูอ่อนขลิบม่วง มีลายดอกเหมยแลก้อนเมฆปักประดับ งามราวเจ้าหญิงในเทพนิยาย (หรือเรื่องผีก็ไม่แน่ ผีจีนสวย ๆ มีหลายตน) สวยมาก นั่งอ่านบทกวีอยู่ในเก๋งประดับไม้ฉลุลายมังกร ริมทะเลสาบที่มีระลอกคลื่นไหวน้อย ๆ ตามละอองลมต้นฤดูใบไม้ร่วง เธอดื่มชาและกินขนมจันอับชิ้นเล็ก ๆ ไปพลาง สมองรื่นรมย์ อารมณ์แจ่มใส (เพราะชาทำให้เกิดสมาธิและอารมณ์ดีได้ – หนังสือบอก) เมื่ออ่านอยู่นั้นมีนกและผีเสื้อหลากสีบินมาฟัง เสียงเธอไพเราะปานเม็ดหยกร่วงลงกระทบแก้วเจียระไน (เพราะน้ำชาล้างลำคอให้โล่ง) ยามเธอลุกขึ้นย่างเท้าให้เข้ากับจังหวะของบทกวีนั้นร่างน้อยก็อ่อนโอนราว กิ่งหลิวต้องลม (เพราะชาไปล้างไขมันส่วนเกินให้) เธอเผลอเพลินอยู่กับบทกวีจนพระจันทร์ทอแสงสีเงินยวงและสะท้อนในน้ำดูแวบวับ (ชาทำให้สมองตื่น กระฉับกระเฉง ไม่ง่วงเหงาหาวนอน) โอ้ กระนี้ จะมิให้สรรเสริญยกย่องชาได้อย่างไร ถ้าดึกอีกหน่อยคงจะมีบัณฑิตหนุ่มที่เพิ่งสอบจอหงวนได้เข้ามาในฉากด้วย ครบสูตรพอดี
ข้อความที่ท่านอ่านจบไปนั้น หวาง หลิง มิได้เขียน และ เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ ก็มิได้แปล หากท่านจะเห็นก็เห็นในจดหมายข่าวฉบับนี้เอง
ขอขอบคุณท่านที่ปรึกษาสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ที่แปลหนังสือดี ๆ ของจีนออกมาให้ผู้อ่านซาบซึ้งและหลงเสน่ห์ชาผ่านตัวอักษร นักแปลที่ติดกาแฟ หากจะจิบชาแทน สุขภาพของท่านจะดี สมองแจ่มใส แปลได้ทนนาน หุ่นดี และอายุยืน มีผลวิจัยเป็นพยานมากมายสำหรับคนทั่วโลก ส่วนเฉพาะนักแปลนักเขียนซึ่งเป็นลูกค้าของน้ำดื่มมีรสเหล่านี้ ยังไม่มีใครวิจัยไว้ คงจะต้องเชื่อภูมิปัญญาสามพันปีของจีน ในหนังสือ “ตำนานชาในตำราจีน” นั่นแล
หวาง หลิง. ตำนานชาในตำราจีน แปลโดย เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์. กรุงเทพฯ มติชน, ๒๕๔๖. ๒๑๖ หน้า. ๑๕๐ บาท. ภาพประกอบ.
โดย :Thaitiat โพสเมื่อ [ วันจันทร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เวลา ๑๓.๔๕ น.]
http://thaitiat.com/8translation/letter8_1.html
|
||
|
โดย :Thaitiat โพสเมื่อ [ วันจันทร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ เวลา ๑๓.๔๕ น.]