อ.ชุติมา ผังชัยมงคล
สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง พบกันในรายการสุขภาพดีชีวีมีสุข ที่นำเสนอสาระน่ารู้สำหรับท่านผู้ฟัง วันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนคุ้นเคย บางประเทศถือเป็นวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้ ท่านผู้ฟังคงสงสัยแล้วสิค่ะว่าวันนี้เราจะคุยเรื่องใดดี เราจะคุยกันเรื่องของชา…วิถีแห่งชีวิตค่ะ
ชามาจากพืชตระกูลคาเมเลีย ไซเนนซิส (Camellia sinensis) มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบเขียวเข้มเป็นมัน ออกดอกสีขาวเป็นช่อส่งกลิ่นหอม ส่วนของต้นชาที่นำมาเป็นเครื่องดื่มจะใช้ใบชาที่อยู่ส่วนบนของต้น ชาที่มีคุณภาพดีที่สุด คือชาที่ผลิตจากใบชาอ่อน ชาเป็นผลผลิตที่มาจากพืชชนิดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นชาจีน ชาญี่ปุ่น ชาอินเดีย ชาศรีลังกา แต่กรรมวิธีการผลิตใบชา และการชงชาไปจนถึงการปรุงแต่งรสชาดของชาที่แตกต่างกันในหลายวัฒนธรรม ทำให้เกิดชาในรูปแบบต่างๆกว่า 3,000 ชนิด
ชาที่นิยมดื่มมี 3 ชนิด คือ ชาฝรั่ง ซึ่งเป็นชาที่ผ่านการนวดอย่างสมบูรณ์ ชาจีน หรือชาดำ เป็นชาที่ผ่านการนวดเพียงเล็กน้อย และสำหรับคนยุคใหม่อาจจะคุ้นเคยกับคำว่าชาเขียวหรือกรีนที กรีนในที่นี้หมายถึงสีเขียว ส่วนทีคงไม่พ้นกับความหมายว่าชา ชาเขียวหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคือชาญี่ปุ่น แต่จริงๆแล้วชาเขียว คือ ชาทุกชนิดที่ผลิตโดยการเอาใบชาสดมาคั่วให้แห้ง ไม่ผ่านกระบวนการหมัก ทำให้ใบชาแห้งและยังคงมีสีเขียว มีคุณภาพเช่นเดียวกับใบชาสด เมื่อนำมาชงน้ำร้อนแล้วจะให้น้ำชาสีเขียว รสฝาดกว่าชาจีน ชาเขียวมี 2 ประเภทคือ ชาเขียวแบบจีน และชาเขียวแบบญี่ปุ่น ต่างกันตรงที่แบบญี่ปุ่นจะไม่คั่วด้วยกะทะร้อนเหมือนของจีน
ชาจัดเป็น เครื่องดื่มที่เหมาะกับการชงไปนั่งคุยกันไป ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมของชาวอังกฤษในยุคแรก ๆ นิยมดื่มชาในช่วงบ่ายๆหรือเย็นๆ ในสวนดอกไม้บรรยากาศสบายๆ ใกล้ชิดธรรมชาติเพื่อเป็นการพบประสังสรรค ต่อมาในสมัยของควีนวิกตอเรีย ชาวอังกฤษนิยมดื่มชาในห้องที่มีบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง ประดับประดาด้วยดอกไม้นานาชนิด เคล้าด้วยเสียงเพลงเพื่อเพิ่มรสชาดในการสนทนา โดยเฉพาะการเจรจาทางธุรกิจ ทำให้ตกลงกันง่ายขึ้น เหมือนในสมัยปัจจุบันที่คนไทยนิยมไปไดรฟ์กอล์ฟเพื่อเจรจาธุรกิจโดยคาดหวัง ว่าการเจรจารธุรกิจจะง่ายขึ้น
คนไทยรู้จักชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน แต่ที่มี
ปรากฎหลักฐานชัดเจนในสมัยอยุธยาจากจดหมายเหตุ ที่ลาลูแบร์ราชฑูตผรั่งเศส พูดถึงการดื่มชาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าการดื่มชาถือเป็นมารยาท ผู้ดีอันจำเป็นต้องนำน้ำชามาเลี้ยงผู้มาเยือน คงจะตรงตามวัฒนธรรมไทยที่ว่าแขกไปใครมาต้องต้อนรับ และการดื่มชาในสมัยนั้นดื่มแบบชาจีนไม่ใส่น้ำตาล ในการต้มชานั้นน้ำที่เหมาะกับการต้มชาควรมีอุณหภูมิสูงประมาณ 80 องศาเซลเซียส และน้ำที่ใช้ต้มชาฝรั่งควรเป็นน้ำเดือด
สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนหรือชาวจีนเวลามีผู้มาหาสู่ถึงบ้านจะนิยมยกน้ำชาออกมาต้อนรับ ถ้าไม่รักกันจริงจะไม่ยกน้ำชามานั่งดื่ม เพราะจะได้คุยให้เสร็จ ๆ แล้วรีบกลับ แม้แต่พิธีแต่งงานของชาวจีนชาจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีความสำคัญ เพราะชาวจีนจะมีพิธียกน้ำชา เพื่อใช้แสดงถึงความเคารพนับถือผู้ใหญ่ที่มาร่วมงาน และใช้แสดงถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สมบูรณ์ แม้แต่พิธีไหว้บรรพบุรุษ หรือสารทจีนน้ำชาก็ใช้ไหว้เช่นกัน ญี่ปุ่นเองก็มีพิธีการชงชาแบบชาโนยุ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาของนิกายเซน ปัจจุบันมีการฝึกหัดชงชาเพื่อรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมญี่ปุ่น เราจะเห็นได้จากภาพยนต์ญี่ปุ่นหลายเรื่องจะมีการชงชาให้เราได้ชม
สำหรับ คนไทยภาคเหนือ คนลาวและพม่า อาจจะรู้จักชาในคำว่า “เมี่ยง” เมี่ยงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากชาที่ผ่านการนึ่งและหมัก มีรสชาดออกเปรี้ยว ๆ เวลารับประทานจะโรยเกลือใส่เล็กน้อยเพื่อเสริมรสชาด เมี่ยงมีบทบาทในวิถีการดำเนินชีวิตจนเกิดคำพังเพยว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่อย่างเราๆท่านๆ อาจจะไม่ทราบ หลายท่านคงยังติดหูกับคำว่าโรงน้ำชาหรือร้านน้ำชา จัดเป็นสถานที่ที่ผู้คน ทุกอาชีพทุกวัยได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยอาศัยการดื่มชา ดิฉันยังเคยได้ติดตามคุณปู่คุณย่าไปโรงน้ำชาเมื่อสมัยยังเด็กยังจำภาพนั้น ได้ติดตาอยู่เลยว่าบรรยากาศช่างสนุกสนาน ดูอบอุ่น มีผู้เฒ่าผู้แก่สรวลเสเฮฮากับคนวัยต่างๆด้วยความสนุกสนาน ร้านน้ำชาจัดเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่ทำให้ท่านมีความสุข ได้เข้ากลุ่ม ได้พบปะกับบุคคลในวัยเดียวกัน ได้เชื่อมสังคมของตนเองกับสังคมของคนวัยอื่นๆ
สำหรับในวันนี้ผู้ฟังคงได้ ทราบแล้วว่าชามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเราได้อย่างไรบ้าง ในคราวหน้าเราจะมาทราบคุณประโยชน์ของชากันนะคะ สวัสดีค่ะ
บรรณานุกรม
จิระศักดิ์ ทองหยวก.(2542). เอนหลังดื่มชา. กรุงเทพฯ:บ้านและสวน.
ธนิษฐา แดนศิลป์.(2545). เสน่หาแห่งชา.พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : อีกหนึ่งสำนักพิมพ์.
ปรัชนันท์.(2546). รินใจใส่ชา : คู่มือคนรักชา. กรุงเทพฯ : อีกหนึ่งสำนักพิมพ์.