ถึงเวลาชาขาวแจ้งเกิด

ชาขาวมีชื่อเดิมตามภาษาท้องถิ่นจีนว่า “ หยินเซน ” ซึ่งแปลว่า “ เข็มเงิน ” ชาวจีนดื่มชาขาวมายาวนานกว่า 1,500 ปี ในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีน ชาขาวเป็นหนึ่งในชาที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นชาที่มีคุณสมบัติดี หายาก และมีราคาแพง จึงถือเป็นชาชั้นสูงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ชาขาวจะคล้ายกับชาเขียวตรงที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการหมักเลย (หนังสือและตำราเกี่ยวกับชาหลายฉบับระบุไว่ว่า ชาขาวคือชาเขียวชนิดหนึ่ง) แต่ต่างกันตรงที่การเก็บใบชาเพื่อนำมาทำเป็นชาขาว จะต้องคัดเลือกเอาแต่เฉพาะยอดอ่อนที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ นั่นก็คือ จะต้องเก็บชาก่อนที่ ยอดอ่อนซึ่งปกคลุมไปด้วยขนเล็กๆ สีขาวจะคลี่ใบออกมา และนี่เองจึงเป็นที่มาของชื่อ ชาขาว โดยจะต้องเก็บยอดอ่อนด้วยมือภายในระยะเวลา ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ที่สำคัญชาขาวที่เก็บมานั้นจะถูกทำให้แห้งโดยวิธีธรรมชาติ ด้วยการตากแดดให้แห้งสนิท

จากรายงานผลการวิจัยโดยนักวิจัยของ The Linus Pauling Institute Micronutrient Information Center ได้ระบุไว้ว่า ขั้นตอนการผลิตชาขาวด้วยกรรมวิธีแบบธรรมชาตินี้ ทำให้ชาขาวมีความบริสุทธิ์และคงคุณสมบัติที่ดีของชา ไว้ได้มากกว่าชาที่ผลิตด้วยกรรมวิธีแบบอื่น เหล่านี้เองจึงทำให้ชาขาวเป็นชาที่หายากและมีราคาแพงการ ชงชาขาวจะใช้เวลามากกว่าการชงชาทั่วไป เพราะต้องทิ้งไว้ประมาณ 5-7 นาที จึงสามารถรินดื่มได้ การดื่มชาขาวช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลายลดอาการตึงเครียดจากการทำงานหนัก นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่า ชาขาวอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่มโพลีฟีนอล ( Polyphenols ) ในปริมาณสูงกว่าชาชนิดอื่น โดยสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ( Antioxidant ) ที่ช่วยป้องกันโรคและความบกพร่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอนุมูลอิสระ ( Free Radical ) เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ โรคไขมัน อุดตันในเส้นเลือด โรคอัลไซเมอร์

ทั้งยังพบว่าชาขาวมีฤทธิ์เป็นสารปฏิชีวะที่สามารถ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหลายชนิดจึงสามารถลดอาการอักเสบและติด เชื้อในช่องปากได้ อย่างไรก็ดีผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับ ระบบประสาทควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา เนื่องจากในใบชามีคาแฟอีนประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์ของกาแฟ อีกทั้งการดื่มชามากๆ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดคราบเหลืองบนฟันได้

ชาขาวคงคุณค่าและความบริสุทธิ์มากขนาดนี้ คอชาทั้งหลายคงไม่พลาดกันอยู่แล้วใช่ไหม

แหล่งข้อมูล

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากหนังสือกูร์เมท์ แอนด์ ควีซีน เดือนกรกฎาคม 2548 ฉบับที่ 5 หน้าที่ 114-115

http://www.tistr-foodprocess.net/tea/article_tea/tea4.htm