เงียบ…แต่ไม่เหงา… : จากชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ

เงียบ…แต่ไม่เหงา…

ทศพร กลิ่นหอม

ท่ามกลาง ความอึกทึกครึกโครมของชีวิตในเมือง เสียงอาจเป็นสิ่งทำร้ายผู้คนทั้งทางกายและทางใจ แต่การแสวงหาความเงียบและตระหนักถึงความงาม ไม่ใช่เป็นเพียงการถนอมสุขภาพกาย ทว่ารวมถึงการรักษาใจให้อยู่สุขอย่างสงบด้วย

“คนส่วนใหญ่นึกว่าเราจะต้องพูดเพื่ออธิบาย ต้องพูดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจ แต่ความเงียบสามารถสื่อสารได้ดีกว่าคำพูดด้วยซ้ำไป”

มี เรื่องเล่าว่า ชายคนหนึ่งเดินเข้าร้านอาหารในเมืองนิวยอร์ก ที่มีตู้เพลงเปิดเพลง แต่ความรู้สึกของเขา เสียงนั้นเป็นเสียงอึงคะนึง ผู้คนในร้านแสดงท่าทางหงุดหงิดกระสับกระส่าย เมื่อชายคนนั้นลุกขึ้นไปหยอดเหรียญตู้เพลง และเลือกแผ่นความเงียบ ความเงียบครอบงำ ร้านนั้น เสียงช้อนกระทบถ้วยกาแฟ เสียงน้ำไหลจากกาลงแก้ว กลับสร้างความรื่นรมย์ให้กับผู้คนในร้านมากกว่า เป็นนิทานสอนใจจากวงเสวนา ‘ความเงียบกับความงาม’ จัดโดย ศูนย์จิตวิวัฒน์ และสมาคมหรี่เสียงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 ถึงภาวะของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ที่ถูกกักขังอยู่ในมลภาวะทางเสียง

กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งที่ชีวิตผู้คนถูกอัดกระหน่ำด้วยเสียงจากรอบด้าน เสียงเครื่องยนต์จากท้องถนน เสียงเครื่องจักรทำงานก่อสร้าง มีทุกตรอกซอกซอย จนถึงเสียงจากจอภาพทีวี ที่ไล่ตามไปหลอกหลอนผู้คนตามป้ายรถเมล์ ทั้งเพื่อแข่งขันกันขายสินค้าและกระหน่ำข่าวสารอันท่วมทะลักทะล้น บางครั้งการอยู่ในที่พำนักอย่างเช่นคอนโดมิเนียม ก็ยังหนีไม่พ้นเสียงอันเสียดแทงเหล่านั้น

อ.กริน ทร์ กลิ่นขจร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้สนใจที่ผลักดันการใช้ชีวิตในเมืองให้เป็นไปอย่างเงียบสงบ และรื่นรมย์กว่าที่เป็นอยู่ ได้เล่าว่า แม้ทางกรมควบคุมมลพิษ จะวัดค่าระดับความดังของเสียงในเขตกรุงเทพมหานคร ความเข้มเสียงเป็นหน่วยเดซิเบล เพื่อชี้พื้นที่ที่เข้าข่ายมลภาวะทางเสียงเกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลทำลายอวัยวะการได้ยิน และก่อให้เกิดความเจ็บปวดและภาวะป่วยไข้ทั้งร่างกายและจิตใจได้ อาทิเช่น ย่านถนนสีลม หรือย่านสยามสแควร์ และตามผับ บาร์ สถานบันเทิงที่เปิดเพลงเสียงดัง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ความอ่อนไหวต่อเสียงดังของคนอาจไม่เท่ากัน แตกต่างตามวัย และสภาพร่างกายของแต่ละคน ในระดับที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดมากขึ้น

อ.กริน ทร์ ได้กล่าวถึงปัญหาของเสียง ว่า “เสียงเป็นสิ่งที่เราป้องกันหรือต้านทานยาก สิ่งรบกวนที่เกิดจากประสาทอื่นๆ เรายังสามารถปิดกั้นมันได้ เช่นเราไม่อยากเห็นภาพรกตา เราปิดตาได้ แต่เสียง ต่อให้เราเอามืออุดหู บางเสียงก็ยังทะลุทิ่มแทงเข้ามาได้ บางครั้งการอุดหู ยิ่งทำให้เกิดเสียงอึงในหู เพราะความกดอากาศ เจ็บปวดทรมานขึ้นไปอีก “

“นอกจาก เสียงรบกวน ที่กลายเป็นสิ่งทำร้ายจิตใจร่างกายแล้ว มันยังเป็นสภาวะอำนาจที่คุกคามประชาชนแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับ มันอย่างไรด้วย มันเป็นสภาวะที่เราไม่อาจป้องกันตัวเองได้เลย”

แต่ นั่นเป็นประเด็นด้านสังคมที่อาจจะพูดถึงในโอกาสต่อไป โดย อ.กรินทร์ ร่วมกับกลุ่มสมาชิกในชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ที่มีนักวิชาการจากหลายสาขาเข้าร่วม เพื่อสร้างชุมชนในการแลกเปลี่ยนปัญหา ข้อมูลและการจัดกิจกรรมที่นำพาผู้คนหลีกหนีจากเสียงร้ายๆ ในเมือง โดยทุกคนได้เห็นร่วมกันในเบื้องต้นว่า ภาวะปัจจุบัน เสียงดัง ได้คุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรเมืองมากเหลือทนแล้ว และการแสวงหาความเงียบ-สงบกำลังเกิดขึ้น

เสียง’ ทำร้าย

เสียงที่ ‘ดังเกินไป’ ทำร้ายร่างกายโดยตรงแน่นอน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ ชี้ถึงภัยของเสียงที่ชัดเจน ได้แก่ ความเจ็บปวดและอวัยวะรับเสียงเกิดความเหนื่อยล้า การสูญเสียการได้ยินตั้งแต่ระดับชั่วคราว จนถึงขั้นหูตึงและหูหนวก อารมณ์หงุดหงิดรำคาญ ผลกระทบต่อพฤติกรรมการแสดงออก อาทิเช่น คนได้รับเสียงดังมากๆ จะกลายเป็นคนก้าวร้าว ต่อต้านสังคมและจิตใจหยาบกระด้าง การสื่อสารไม่ดีอันเนื่องมาจากการได้ยินไม่ดีนั่นเอง หรือ เกิดภาวะนอนไม่หลับซึ่งจะมีผลกระทบตามมาอีกมากมาย เพราะร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนั้นเสียงดังยังมีผลกระทบถึงระดับฮอร์โมน ที่อาจทำให้ระบบการเผาผลาญอาหารและระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องได้ (ข้อมูลจาก www.euro.who.int/Noise)

ใน เอกสารเผยแพร่ ‘ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเสียง’ โดย กฤติกา เลิศสวัสดิ์ สมาชิกชมรมหรี่เสียงฯ ได้ยกตัวอย่าง ภัยเสียงที่มีผลให้สูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว ว่า สามารถเกิดขึ้นได้จากการรับเสียงดังในระยะเวลา ‘ติดต่อกันยาวนาน’ เช่น การอยู่ในบริเวณงานวัดที่เสียงต่างจากลำโพง โทรโข่งแข่งกันดังติดต่อเกิน กัน 3 ชั่วโมง หรือการฟังดนตรีร็อคยาวนานติดกันถึง 5 ชั่วโมง และหากได้รับเสียงเหล่านี้ในระยะเวลายาวนานและเกิดบ่อยครั้ง ผลเสียจะรุนแรงถึงขั้นหูดับถาวรเลยทีเดียว และต้องรับฟังเสียงที่ดังมากกว่าปกติทั่วไป เสียงดังเกินไปยังทำให้อารมณ์ของคนเราแปรปรวน อารมณ์มีผลอย่างมากต่อระบบการทำงานอื่นๆ ของร่างกาย เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นโรคกระเพาะ โรคความดันโลหิตสูง โรคจิต เนื่องจากเสียงที่ดังเกินไปทำให้เกิดความเครียด เป็นต้น

อาจารย์ อู่ทอง โฆวินทะ อาจารย์สาขาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะชินกับเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นเสียงถนน เสียงทีวีในรถไฟฟ้า การชินกับเสียงเป็นอันตรายอย่างหนึ่ง คนดูจะอึดอัดเมื่ออยู่ในที่ไม่มีเสียง คนส่วนใหญ่จะเล่นกับมือถือ โทรหาใครสักคนแม้จะไม่มีธุระ เป็นชิ้นเป็นอัน ความนิ่งกับความเงียบกลายเป็นปัญหาสำหรับคนรุ่นใหม่ เทียบกับ 50 ปีที่แล้ว คนรุ่นนั้นจะทำสิ่งต่างๆ ในความเงียบสงบ และมีสมาธิ ปัญหาของเด็กรุ่นใหม่จึงเกี่ยวกับสมาธิและสติ กระทบต่อการทำงานหรือเรียนให้ได้ดี จึงอยากให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของความเงียบสงบมากขึ้น

ข้อ เสนอแนะของ อ.อู่ทอง พ้องกับความเห็นของ วีรพันธุ์ วงศ์วรรณ ผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาเสียงดังผ่านบทความ ‘ฟ้าถล่มที่โรงหนัง’ ว่า “น่าเป็นห่วงที่เด็กส่วนใหญ่ที่ผลผลิตของสังคมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ชอบอ่านหนังสือ อยู่เงียบๆ แล้วรู้สึกว้าเหว่ มีข้อสรุปว่า คนที่เป็นโรคขี้เหงา เพราะอยู่เงียบๆไม่เป็น ในยุโรปการสอนหนังสือเด็ก ต้องมีกิจกรรมที่จะพาเด็กออกไปฟังเสียงธรรมชาติ สอนเด็กให้รู้จักฟังเสียงฟ้าเสียงฝน เสียงแมลงกันบ่อยๆ เด็กจะได้มีจินตนาการ ชอบความเงียบ ชอบอ่านหนังสือ ปัญหาของเด็กในยุคอิเล็กทรอนิกส์นี้ คือติดเกม ติดเพื่อน และต้องฟังเสียงเพลงดังๆ เพราะอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่ได้”

ขอบคุณที่มา : ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพฯ