ประวัติทำเนียบรัฐบาลไทย

ทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่ราชการสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ของประเทศ นอกจากเป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังใช้ในการจัดรัฐพิธี อาทิ งานสโมสรสันนิบาตเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เป็นต้น

ก่อนเป็น ทำเนียบรัฐบาล บริเวณพื้นที่ภายในรั้วกำแพงโดยรอบ มีชื่อเดิมว่า “บ้านนรสิงห์” เจ้าของบ้านคือ “พลเอก พลเรือเอกเจ้าพระยารามราฆพ” (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด โปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวยทั้งมื้อกลางวันและกลางคืนตลอดรัชกาล และตามเสด็จโดยลำพัง

บ้านนรสิงห์ตั้งอยู่ที่ตำบลดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีบริเวณเนื้อที่ตามโฉนด 27 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา เจ้าของบ้านได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์มาจัดสร้างอาคารและสิ่งต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

ชื่อบ้านนรสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นชื่อพระราชทาน หรือเจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง แต่ “นรสิงห์” นั้นเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ที่อวตารลงมาในโลกมนุษย์เพื่อปราบยักษ์ร้าย นรสิงห์มีเศียรเป็นสิงห์ แต่พระวรกายเป็นมนุษย์ เล็บที่ปลายนิ้วเป็นกรงเล็บสิงห์ ใช้เป็นอาวุธ (หารายละเอียดอ่านสนุกได้ใน ลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) แต่เดิมบ้านนรสิงห์เคยมีรูปปั้นนรสิงห์เต็มตัว ตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึก ปัจจุบันสัญลักษณ์นี้ไม่มีอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าได้เคลื่อนย้ายไปอยู่ ณ ที่ใด

พ.ศ.2484 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้เจรจาขอซื้อหรือไม่ก็ขอเช่าบ้านนรสิงห์ ด้วยเห็นว่ามีความสวยงาม เพื่อทำเป็นสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แต่ความปรากฏในเวลาต่อมาว่าในเดือนมีนาคม 2484 พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ เจ้าของบ้าน ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปรีดี พนมยงค์ เสนอขายบ้านนรสิงห์ให้แก่รัฐบาลในราคา 2 ล้านบาท เพราะเห็นว่าใหญ่โตเกินฐานะและเสียค่าบำรุงรักษาสูง กระทรวงการคลังปฏิเสธ

ถึง เดือนกันยายน ปีเดียวกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรซื้อบ้านนรสิงห์ทำเป็นสถานที่รับรองแขกเมือง ในที่สุดตกลงซื้อขาย กันได้ในราคา 1 ล้านบาท โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม พิชเยนทรโยธิน) ได้ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แล้วมอบบ้านนรสิงห์ให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแล โดยให้รัฐบาลใช้เป็นสถานที่สำหรับรับรองแขกเมืองและใช้เป็นที่ตั้ง ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ พ.ศ.2484 เป็นต้นมา “บ้านนรสิงห์” จึงเปลี่ยนเป็น “ทำเนียบสามัคคีชัย” และ “ทำเนียบรัฐบาล” โดยลำดับ สำนักนายกรัฐมนตรีก็ย้ายจากวังสวนกุหลาบมาอยู่ ณ ที่นี้

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2506 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการซื้อทำเนียบรัฐบาล ได้ทำสัญญาซื้อขายกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในราคา 17,780,802.36 บาท (สิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นแปดร้อยสองบาทสามสิบหกสตางค์) โดยคำนวณราคาจากต้นทุนรับซื้อบวกด้วยราคาซ่อมบำรุงคูณด้วย 15 แล้วลดราคาลง 20% ตามระเบียบของราชการในสมัยนั้น และโอนกรรมสิทธิ์กัน ณ สำนักงานที่ดิน จังหวัดพระนคร เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2512